น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ลงพื้นที่เตรียมความพร้อมระบบบริการในการขับเคลื่อนนโยบาย "30 บาทรักษาทุกที่ สุขภาพดีเริ่มที่ใกล้บ้าน กรุงเทพมหานคร" ณ ศูนย์บริการสาธารณสุข 3 เขตดุสิต พร้อมติดตามการให้บริการเชิงรุกเจาะเลือดที่บ้านในชุมชน บริการที่ร้านยาคุณภาพ ที่ร่วมให้บริการตามนโยบายฯ และได้ติด "ตราสัญลักษณ์ใหม่ 30 บาทรักษาทุกที่" เพื่อแสดงจุดบริการตามนโยบายดังกล่าว
รองผู้ว่าราชการ กทม. กล่าวว่า ความร่วมมือในการขยายบริการ 30 บาทรักษาทุกที่ในวันนี้ จะเป็นส่วนที่เข้ามาสนับสนุนการให้บริการสุขภาพในพื้นที่กรุงเทพฯ ทำให้ผู้ใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาท เข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นโดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นปฐมภูมิของกรุงเทพมหานคร ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง และอีก 77 ศูนย์สาขาซึ่งมีบุคลากรที่เป็นพยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข แม้แผนกอาจไม่มากเท่าศูนย์บริการสาธารณสุขหลัก แต่ก็สามารถเป็นที่พึ่งและให้บริการได้ เป็นหมอน้อยใกล้บ้านให้กับประชาชนได้เช่นกัน ทั้งนี้ ความร่วมมือในครั้งนี้จะทำให้ประชาชนที่แม้จะอยู่ภูมิลำเนาอื่น แต่ทำงานอยู่ใน กทม. ก็สามารถใช้บริการศูนย์บริการสาธารณสุขของเราได้ มาตรฐานของหน่วยปฐมภูมิวันนี้สามารถที่จะทำให้เรามีสุขภาพที่ดีและเป็นที่พึ่งทางใจ ไม่ไกลบ้าน ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และไม่ต้องไปแออัดอยู่ที่โรงพยาบาล
นอกจากนี้ กทม. ยังได้ลงนาม MOU ในโครงการ Health Link เพื่อให้คน กทม. เข้าถึงระบบสาธารณสุขแบบไร้รอยต่อ ซึ่งปัจจุบันได้เชื่อมต่อระบบกับหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช.แล้ว รวมถึงสถานพยาบาลสังกัดต่าง ๆ ในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นระบบที่นำมาเชื่อมต่อเพื่อขับเคลื่อนนโยบายฯ นี้ต่อไป ท้ายนี้หวังว่าความร่วมมือในครั้งนี้ จะทำให้ประชาชนทุกคนที่อยู่ในกรุงเทพมหานครรู้สึกได้ว่าเมืองน่าอยู่ขึ้น
ด้านนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นโยบาย "30 บาทรักษาทุกที่ สุขภาพดีเริ่มที่ใกล้บ้าน กรุงเทพมหานคร" มีวัตถุประสงค์เพื่อดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้เข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างสะดวก รวดเร็ว โดยไม่ต้องรอคิว วันนี้ถือเป็นโอกาสดีที่กรุงเทพมหานคร กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมลงพื้นที่ติดตามความพร้อมของหน่วยบริการ ทั้งระบบการให้บริการคลินิกชุมชนอบอุ่นและการให้บริการเชิงรุก เช่น บริการเจาะเลือดที่บ้าน การบริการดูแล กรณีเจ็บป่วยเล็กน้อยโดยเภสัชกร ณ หน่วยบริการทางเลือกใหม่ อย่างร้านยาคุณภาพ เป็นต้น
โดยภายหลังการแถลงข่าวตนและคณะจะได้ลงพื้นที่หน่วยบริการใกล้เคียง เพื่อเริ่มติดตราสัญลักษณ์ "30 บาทรักษาทุกที่" ซึ่งเป็นเครื่องหมายแสดงจุดให้บริการ ของหน่วยบริการที่เข้าร่วมโครงการ สัญลักษณ์นี้เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การสื่อสาร ให้ประชาชนได้รับรู้ และสามารถเข้ารับบริการได้ โดยปราศจากความกังวล ขอขอบคุณกรุงเทพมหานคร ในฐานะหน่วยรับผิดชอบหลักในพื้นที่ ที่สนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายฯ รวมถึงหน่วยงานสภาวิชาชีพทางการแพทย์ และสาธารณสุขด้านต่างๆ ที่ร่วมผลักดันโดยเพิ่ม "หน่วยบริการปฐมภูมิทางเลือกใหม่" อันเป็นทางเลือกที่ช่วยสนับสนุนการทำงานของหน่วยบริการที่มีอยู่เดิมในระบบ และเป็นความสำเร็จในการยกระดับระบบสุขภาพให้กับประชาชนชาวกรุงเทพมหานคร