นายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีกระแสข่าวที่พรรคประชาธิปัตย์จะร่วมรัฐบาล ว่า ขณะนี้ยังไม่มีมติของพรรค และท้ายที่สุดไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ประชาธิปัตย์จะต้องเคารพมติพรรค พร้อมยกตัวอย่างการร่วมรัฐบาลที่ผ่านมา กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่ามี 2 เงื่อนไข คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และผลักดันนโยบายประกันรายได้
นายชวน ยังกล่าวตัดพ้อว่า ขณะนี้ยังไม่ได้มีมติว่าจะร่วมรัฐบาลหรือไม่ แต่กลับมีการนำเสนอข่าวว่าเป็นเหมือนพรรคอะไหล่ รอจะเสียบ ทำให้ผู้ที่สนับสนุนพรรคเสียใจ จึงอยากให้แยกแยะระหว่างพฤติกรรมของพรรคกับพฤติกรรมของคนบางคน ซึ่งส่วนตัวไม่ขอออกความเห็นว่า หากประชาธิปัตย์ร่วมรัฐบาลจริง ควรจะมีเงื่อนไขอะไร เนื่องจากตนไม่ใช่กรรมการบริหารพรรค เพียงแค่มีจุดยืนส่วนตัวว่าไม่ร่วมตั้งแต่ต้น เพราะไม่อยากถูกประณามว่าทรยศชาวบ้าน เพราะเคยหาเสียง ทำให้แม้พรรคเพื่อไทยได้คะแนนท่วมท้น แต่ในภาคใต้ไม่มี สส. แม้แต่คนเดียว ซึ่งส่วนตัวมองว่า หากเป็นฝ่ายค้านก็ต้องทำหน้าที่ของฝ่ายค้านจริงๆ แต่ถ้าหากเป็นฝ่ายค้านแล้วลังเลใจ เวลามีมติอะไรก็ไม่กล้าตัดสินใจ เพราะกลัวเขาจะโกรธและไม่ให้ร่วมรัฐบาล เพราะการเป็นฝ่ายค้านแม้ สส.น้อย แต่สามารถทำประโยชน์ให้กับประชาชนได้
ทั้งนี้ นายชวน ยังกล่าวอีกว่า ในฐานะที่เป็น สส. ทำหน้าที่นิติบัญญัติ อะไรที่ดีก็พร้อมสนับสนุน เพราะหากทำผิดก็จะเถียงยาก ทางออกที่ไม่ให้ถูกยุบพรรค คือไม่กระทำผิดหรือไปแก้กฎหมายในอนาคต ไม่ใช่ให้ยุบทั้งพรรค แต่ให้มีโทษกับผู้ที่กระทำความผิดเป็นรายบุคคล
ขณะเดียวกัน นายชวน ยังกล่าวย้ำว่า ระบบพรรคการเมืองเป็นแบบนี้ ตนอยู่มา 50 ปี ไม่เคยขัดมติพรรค ระบบพรรคมีของดีอยู่แบบนี้ ถึงอยู่มาได้ยาวนาน หากไม่มีของดีอยู่บ้าง พรรคก็อยู่ไม่ได้ พรรคประชาธิปัตย์เคยถูกฟ้องยุบพรรคมาแล้ว 2-3 ครั้ง โดยพรรคไทยรักไทยเป็นผู้ร้อง แต่ประชาธิปัตย์ไม่ถูกยุบ กลับมีมติเอกฉันท์ให้ยุบพรรคไทยรักไทย มีคนนำเงินไปยื่นให้ธุรการศาลรัฐธรรมนูญ 30 ล้าน เมื่อมีคนด่าตุลาศาลรัฐธรรมนูญ ตนเป็นคนหนึ่งที่มองว่าซื่อตรง เรื่องยื่นเงิน 30 ล้านแดงขึ้นมา คนวิ่งเต้นเป็นรุ่นน้องที่ธรรมศาสตร์ ครั้งแรกให้ไป 15 ล้าน ถูกปฏิเสธ จึงตามไปถึงที่บ้านและเสนอเงิน 30 ล้าน ตนไม่อยากจะเอ่ย เพราะมันจะกระทบถึงผู้ใหญ่ในบ้านเมือง และยังมีตัวตนอยู่ในทุกวันนี้ และเป็นกลุ่มธุรกิจการเมือง