นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงกรณีโลกออนไลน์เผยแพร่ภาพพฤติกรรมไม่เหมาะสมของแพทย์ต่อเจ้าหน้าที่พยาบาลในโรงพยาบาลแม่ลาว จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ที่ผ่านมา ว่า รู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงได้สั่งการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ระมัดระวังการทำงานที่อาจเกิดปัญหาขึ้นในลักษณะนี้อีก โดยเข้าใจเป็นอย่างดีว่าบุคลากรทางการแพทย์ ต้องทำงานอย่างหนัก และอาจมีความเครียดสะสม จึงเร่งเดินหน้าแก้ปัญหาอย่างเต็มที่ ซึ่งได้เสนอแผนเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว โดยขอยืนยันว่าไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลน เพราะอาจส่งผลกระทบเหมือนในกรณีนี้
ส่วนกรณีที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลแม่ลาว ได้รับรายงานว่าจากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง เนื่องจากการสื่อสารการทำงานคลาดเคลื่อน จึงทำให้แพทย์เกิดอารมณ์ชั่ววูบ โดยการทำงานของแพทย์และพยาบาล อาจมีกระทบกระทั่งเกิดขึ้นได้ เนื่องจากปัจจัยหลายประการ เช่น ความเร่งด่วนในงาน ความคาดหวังของประชาชน และภาระงาน โดยเพื่อให้การรักษาพยาบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนได้รับการดูแลเป็นไปตามมาตรฐานสูงสุด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจึงได้ดำเนินการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนแล้ว ผ่านการให้การดูแลด้านจิตใจของผู้เสียหาย ซึ่งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด สอบสวนข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน และดำเนินการทางวินัยกับแพทย์รายดังกล่าว
เบื้องต้น ทราบว่า ในวันแรกเจ้าหน้าที่พยาบาลผู้เสียหายมีอาการช็อกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คิดวกวน ว้าวุ่น ปัจจุบันอาการดีขึ้น มีความเครียดเล็กน้อย พักหลับได้ สมาธิและการคิดวกวนดีขึ้น นิ่งขึ้น ได้กำลังใจจากเพื่อนร่วมงานและผู้บริหาร สามารถกลับมาปฏิบัติงานได้ตามปกติ ในส่วนของแพทย์คนดังกล่าว ขณะนี้อยู่ในระหว่างการลาพักปฏิบัติหน้าที่ เบื้องต้นได้นัดหมายให้มารับการประเมินและรายงานเหตุการณ์เพิ่มเติม พร้อมให้ย้ายมาปฎิบัติหน้าที่ที่โรงพยาบาลเชียงราย และให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยตามระเบียบราชการ ให้มีผลภายใน 90 วัน โดยกรณีนี้ ขอยืนยันว่า จะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายด้วยความยุติธรรม
ด้านนายแพทย์คงศักดิ์ ชัยชนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่ลาว เปิดเผยว่า จากการสอบถามสาเหตุในเบื้องต้นจากแพทย์คนดังกล่าวที่ก่อเหตุ ได้คำตอบว่าเกิดจากความเครียดสะสมจากภาระงานที่เยอะ และถูกกดดันจากญาติ รวมถึงความคาดหวังจากประชาชน โดยเมื่อพบว่าทางพยาบาลมีการตรวจข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยไม่ครบถ้วน จึงเกิดโมโหและแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่อพยาบาลซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงาน
ทั้งนี้ ทางโรงพยาบาลจะดำเนินการสอบสวนเพื่อเอาผิดทางวินัย พร้อมกับประเมินก่อนว่าควรจะให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อหรือไม่ในวันที่ 21 สิงหาคม 2567 เนื่องจากในขณะนี้อยู่ในช่วงการลาราชการของแพทย์คนดังกล่าว และจะกลับมาปฏิบัติหน้าที่อีกครั้งในวันดังกล่าว หลังเกิดเหตุแพทย์คนดังกล่าวได้โทรศัพท์มาอธิบายกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และบอกว่าเสียใจอย่างมาก พร้อมยอมรับว่าเครียด เพราะเพิ่งมาย้ายมาทำงานได้แค่ 2 เดือน
ส่วนพยาบาลที่ถูกทำร้าย ตอนแรกเสียขวัญ เสียกำลังใจ เพราะไม่คิดว่าจะเจอหมอมาทำร้ายร่างกาย แต่ตอนนี้ได้ส่งทีมจิตวิทยาเข้าไปช่วยเหลือเยียวยาจิตใจ ตอนนี้ดีขึ้น และสามารถกลับมาทำงานได้ตามปกติ แต่แพทย์ผู้ก่อเหตุจะต้องสอบถามถึงเหตุการณ์กันอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นคงต้องให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้ป่วยใน (OPD) ไปก่อน
ขณะที่ ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา กล่าวถึงกรณีนี้ว่า หากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ถือเป็นความผิดทางวินัยของข้าราชการที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ และถ้ามีการสอบถามแล้วพบว่าเป็นความผิดขั้นร้ายแรง รวมถึงไม่สามารถให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ ทางโรงพยาบาลสามารถส่งเรื่องมาให้แพทยสภาพิจารณา เพื่อเอาผิดกับแพทย์คนดังกล่าวต่อไปได้ แต่หากมีการเจรจาตกลงกัน และไม่กระทบต่อการให้บริการรักษาพยาบาล ก็สามารถให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้เช่นกัน แต่หากผู้ที่ถูกทำร้ายร่างกายรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือเห็นว่าพฤติกรรมที่ถูกทำร้ายมีความรุนแรง ก็สามารถส่งเรื่องร้องเรียนแพทย์คนดังกล่าวมาที่แพทยสภาได้เช่นกัน
ทั้งนี้ แพทยสภาไม่สนับสนุนให้มีความรุนแรง แต่ยอมรับว่าการกระทบกระทั่งระหว่างบุคลากรการแพทย์ด้วยกันอาจเกิดขึ้นได้ เพราะภาระงานและความเครียดที่ต้องทุ่มเทดูแลรักษาพยาบาลคนไข้ ทำให้อาจมีการทะเลาะกันได้ แต่ก็ไม่รุนแรง หลายครั้งทำความเข้าใจกันได้ แต่ถึงขั้นทำร้ายร่างกายแบบนี้เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก แต่ก็มีบ้างเป็นครั้งคราวที่รายงานเข้ามายังแพทยสภา เข้าใจดีว่าการทำงานย่อมมีความเครียดในทุกอาชีพ และเมื่อเกิดความโมโหก็อาจทำให้ไม่มีการยั้งคิด อย่างไรก็ตาม สำหรับแพทย์ก็อยากให้มีความอดทนอดกลั้น และควบคุมอารมณ์ในการทำงานให้ได้ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อการดูแลรักษาพยาบาลกับผู้ป่วย