แพทย์หญิงจุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ผู้ช่วยอธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วยนายแพทย์วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค ร่วมแถลงข่าว "สิงหาเรารักกัน สานพลังป้องกันโรค" โดยแนะนำวิธีรับมือโรคและภัยสุขภาพในช่วงหน้าฝนนี้
โควิด 19 : แนวโน้มพบผู้ป่วยลดลง
สายพันธุ์ที่พบระบาดมากที่สุด คือ สายพันธุ์ JN.1, KP.2 และ KP.3 จากข้อมูลวันที่ 7 มกราคม - 3 สิงหาคม 2567 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 36,141 ราย ปอดอักเสบ 447 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 184 ราย และเสียชีวิต 194 ราย
สัปดาห์ที่ผ่านมาระหว่างวันที่ 28 กรกฎาคม - 3 สิงหาคม 2567 พบผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 560 ราย เสียชีวิต 1 ราย ผู้เสียชีวิตอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีโรคประจำตัว
ไข้หวัดใหญ่ : แนวโน้มพบผู้ป่วยลดลง
สายพันธุ์ที่พบมากที่สุด เป็นสายพันธุ์ A (H1N1) ข้อมูลวันที่ 1 มกราคม - 26 กรกฎาคม 2567 พบผู้ป่วยสะสม 316,123 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กเล็กและกลุ่มวัยเรียน
พบผู้เสียชีวิต 27 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป และไม่ทราบประวัติการได้รับวัคซีน เน้นย้ำกลุ่มเสี่ยงต่อโรครุนแรงรีบเข้ารับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้ที่สถานพยาบาลของรัฐใกล้บ้าน
โรคติดเชื้อไวรัส RSV : พบการระบาดสูง
ในช่วงหน้าฝน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมจนถึงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ข้อมูลวันที่ 1 กันยายน 2564 - 3 สิงหาคม 2567 มีผู้ป่วยที่ตรวจพบเชื้อไวรัส RSV 1,240 ราย พบมากในกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี และพบผู้เสียชีวิต 3 ราย กลุ่มเสี่ยงยังคงเป็นเด็กเล็ก และผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว
จากการระบาดของเชื้อระบบทางเดินหายใจดังกล่าว ในช่วงฤดูฝน ขอเน้นย้ำให้ประชาชน ผู้ปกครอง และผู้สูงอายุ เตรียมพร้อมเฝ้าระวังและตระหนักในใช้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด
แนวทางการป้องกันสำหรับประชาชน
1. ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือ
2. เลี่ยงการนำมือที่ไม่สะอาดมาสัมผัสจมูก ปาก หรือตา
3. ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ ช้อน ส้อม
4. หมั่นเช็ดถูทำความสะอาดของเล่นเด็กเป็นประจำ โดยเฉพาะหลังพบเด็กป่วย
5. เลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ
6. หากไปในสถานที่ปิดหรือแออัด ควรสวมหน้ากากอนามัย
คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย
1. หยุดพักรักษาตัวที่บ้าน งดเข้ากิจกรรม สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ
2.ดื่มน้ำมากๆ
3.หากผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 - 2 วัน เช่น หอบเหนื่อย ซึมลง รับประทานอาหารได้น้อย ควรรีบพาไปพบแพทย์โดยเร็ว
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวยังสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจอื่นๆ ด้วย