xs
xsm
sm
md
lg

"หมอยง"ย้ำไทยมีความจำเป็นต้องเฝ้าระวัง ตรวจสายพันธุ์ "ฝีดาษวานร"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ถึงโรคฝีดาษวานร MPOX องค์การอนามัยโลกประกาศ เป็น ภาวะฉุกเฉิน ทางสาธารณสุขระหว่างประเทศที่น่ากังวล (public health emergency ofinternational concern)

เมื่อ 2 ปีที่แล้วองค์การอนามัยโลก เคยประกาศโรคฝีดาษวานร เป็นโรคที่อยู่ในภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขครั้งแรก ทำให้ทุกประเทศเฝ้าระวัง ตื่นตัว การระบาดครั้งนั้น มีการแพร่กระจายออกมานอกทวีปแอฟริกา ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย โดยเฉพาะในกลุ่มชายรักชาย ที่เป็นผู้ใหญ่ และการระบาดได้กระจายไปเกือบทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย สายพันธุ์ของการระบาด เป็นสายพันธุ์ที่อยู่ในกลุ่ม 2 (Clade 2) เช่นในประเทศไทยที่พบจะเป็น 2b ดังรูป และ โรคไม่รุนแรง อัตราการเสียชีวิตน้อยมาก

ปีนี้ 2567 เกิดการระบาดใหญ่ ในทวีปแอฟริกา เช่น คองโก บุรุนดี เคนย่า รวันดา มากกว่า 15,000 ราย และมีการเสียชีวิตมากถึงร้อยละ 3.4 (537 ราย จาก 15,600 ราย) มีการเสียชีวิตในเด็ก และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ตรวจไวรัสพบว่าเป็น กลุ่ม 1 Clade 1b ซึ่งแตกต่างกับการระบาดก่อนหน้านี้ในประเทศนอกแอฟริกา จึงทำให้เกิดความกังวลว่าโรคนี้จะระบาดออกไปทั่วโลก องค์การอนามัยโลก จึงประกาศโรคฝีดาษวานร เป็นโรคที่อยู่ในภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข ครั้งที่ 2 หลังจากที่คิดว่าโรคนี้ได้สงบลงแล้ว การติดต่อของโรคจะไม่เหมือนกับช่วงที่ผ่านมา ที่ระบาดนอกแอฟริกา และพบได้ทั้งเพศชายและหญิง มีความรุนแรงมากกว่า

ในคองโก 2 ใน 3 ของผู้ป่วยเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และในจำนวนผู้เสียชีวิตเป็นเด็กมากกว่าร้อยละ 80 แสดงให้เห็นว่ากลุ่มเสี่ยงจึงอยู่ในวัยเด็ก

การเฝ้าระวัง ตรวจสายพันธุ์ ฝีดาษวานร ในประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะถ้าเป็น Clade 1b หรือสายพันธุ์ที่มาจากแอฟริกา จะเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวลและต้องเฝ้าระวังติดตามไม่ให้แพร่กระจายได้

ถ้ามีการพบสายพันธุ์ดังกล่าว (1b) วัคซีนจะมีความสำคัญในการป้องกัน โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางเช่นเด็ก ขณะนี้วัคซีนยังมีราคาแพงมากๆ การลดขนาดของวัคซีนเช่นการให้ในผิวหนัง อาจจะต้องมีการศึกษาอย่างเร่งด่วน