xs
xsm
sm
md
lg

นอร์ทกรุงเทพโพลเผย ปชช.57% พอใจ"แพทองธาร"นั่งนายกฯ แนะเร่งแก้ปัญหาเศรฐษกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผศ.ดร.สานิต ศิริวิศิษฐ์กุล หัวหน้าแผนกวิจัย สำนักวิจัย มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ เปิดเผยว่า จากการสำรวจความเห็นเรื่อง "ความคาดหวังนายกรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร" ภายในวันที่ 17 สิงหาคม 2567 จำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม 1,500 คนทั่วภูมิภาค

โดยการสำรวจพบว่าการที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ที่ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี คนไทยมีความพึงพอใจ 57% ไม่พึงพอใจ 23% และ ไม่มีความเห็น 20%พร้อมสอบถามต่อว่าภายหลังจากนี้ "รัฐบาลใหม่" ควรต้องเร่งแก้ไขปัญหาด้านใดบ้าง ผู้ให้สำรวจระบุว่า ควรแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ค่าครองชีพแพง 37% แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างและความเสมอภาค 27.4% แก้ปัญหาด้านการศึกษา ปรับหลักสูตรให้เหมาะสมกับผู้เรียน 19.7% และช่วยเหลือเกษตรกร ดูแลราคาพิชผลทางการเกษตร 15.6%

ผศ.ดร.สานิต ได้สอบถามผู้สำรวจต่อว่า คิดว่าอะไรคือจุดเด่นของ "น.ส.แพทองธาร ชินวัตร" ได้คำตอบจากคนไทยดังนี้ บุคลิกภาพดี รูปลักษณ์การแต่งกายดี 37.6% สื่อสารเก่ง ชัดเจน 15.6% มีผลงานเป็นรูปธรรม ไม่ว่างานธุรกิจหรือการบริหารประเทศ 9.4% เป็นคนรุ่นใหม่ มีความคิดที่ทันสมัย มีวิสัยทัศน์ 9% ขยันทุ่มเทในการทำงาน 6.2% เด็ดขาด กล้าตัดสินใจ 6.1% รับฟังความเห็นของผู้อื่น 5.1% ซื่อสัตย์ โปร่งใส ตรวจสอบได้ 4.6% และอื่นๆ 6.4%

ทั้งนี้ สิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อสอบถามถึงความต้องการให้สานต่อนโยบายใดมากที่สุด ผู้สำรวจให้คำตอบว่า ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ วุฒิปริญญาตรี 4.1% ลดค่าไฟเหลือ 3.99 บาท 7.2% รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย (สีม่วงและแดง) 12.1% ตรึงราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้ม 15.2% 30 บาทรักษาทุกที่6.6% แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ6.4% สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำช่วย SMEs 5.3% เปลี่ยน ส.ป.ก. เป็นโฉนด 4.6% ยาบ้า 1 เม็ดผิดกฎหมาย 15.4% หวยเกษียณ ซื้อหวยได้เงินคืน 7.2% ผลักดันแลนด์บริดจ์กาสิโนถูกกฎหมาย 4.7% กระตุ้นท่องเที่ยวเมืองรอง 5.2% และ ขึ้นค่าแรง 400 บาท นำร่องภาคท่องเที่ยวก่อนทั่วประเทศสิ้นปีนี้ 6%

ผศ.ดร.สานิต เปิดเผยต่อว่า จากการสำรวจนั้นจะเห็นได้ว่าประชาชนคนไทยมีความเชื่อมั่นต่อ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนใหม่ในทุกๆ ด้าน ทั้งในเชิงของการบริหารประเทศและแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยให้เกิดความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ซึ่งภายหลังจากนี้ยังคงต้องติดตาม นโยบายต่างๆ ที่จะออกมาใหม่และแนวทางการสานต่อนโยบายเดิมที่มีอยู่ ว่าจะออกมาในรูปแบบใด