นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ต้องราชทัณฑ์ที่เข้าข่ายได้ประโยชน์จากพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษครั้งนี้ มีจำนวน 30,597 คน โดยจะมีทั้งกลุ่มได้ลดวันต้องโทษ กลุ่มพักโทษ กลุ่มกักขังแทนค่าปรับ และกลุ่มที่ได้พ้นโทษ ซึ่งจะมีการทยอยปล่อยตัวและดำเนินการลดโทษตามพระราชกฤษฎีกากำหนดภายใน 120 วัน โดยผู้ต้องขังที่ได้รับประโยชน์ตามพระราชกฤฎีกานี้ กำหนดไว้ต้องเป็นผู้ได้รับโทษแล้วไม่น้อยกว่า 1ใน 3 หรือจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 8 ปี ขึ้นกับจำนวนวันต้องโทษ ขั้นตอนหลังจากมีประกาศพระราชกิจจา กรมราชทัณฑ์ ต้องตั้งคณะกรรมการมาตรวจสอบรายชื่อคุณสมบัติให้ถูกต้อง โดยกลุ่มที่ได้ปล่อยตัวพ้นจากเรือนจำ เป็นกลุ่มที่กรมราชทัณฑ์จะต้องเสนอไปยังศาลเพื่อขอหมายปล่อยให้ก่อน ซึ่งรวมถึงนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เดิมจะครบกำหนดพ้นโทษในวันที่ 31 สิงหาคม 2567 แต่ผลจากพระราชกฤฎีกาครั้งนี้ จะได้เปลี่ยนแปลงลดจำนวนวันต้องโทษ ซึ่งส่งผลให้พ้นโทษเร็วขึ้น วันนี้ถือเป็นผู้มีคุณสมบัติได้รับประโยชน์จากพระราชกฤฎีกาพระราชทานอภัยโทษครั้งนี้ แต่จะพ้นโทษต้องมีหมายปล่อยจากศาลก่อน
นายสหการณ์ กล่าวอีกว่า กลุ่มผู้ต้องราชทัณฑ์ที่ได้ประโยชน์พ้นโทษ และได้ปล่อยตัวครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ถูกกักขังแทนค่าปรับ มีจำนวน 11,271 คน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องการให้โอกาสได้ออกจากเรือนจำ ทั้งนี้ ผู้ต้องขังคดีอื่นๆ ก่อนพ้นโทษจะต้องผ่านการอบรม และกรมราชทัณฑ์ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน ร่วมติดตามการใช้ชีวิตหลังพ้นโทษเพื่อช่วยเหลือให้กลับตัวเริ่มต้นชีวิตได้ จึงขอให้สังคมอย่าได้กังวล
ต่อข้อถามถึงผู้ต้องขังบิ้กเนมคดีต่างๆ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า มีผู้ต้องขังคดีสำคัญได้รับประโยชน์เช่นกัน ได้แก่ กลุ่มคดีจำนำข้าว นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง และพวก เข้าข่ายได้ลดวันต้องโทษ เหลือโทษน้อยลง นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอ ได้ลดวันต้องโทษ ส่วนนายบรรยิน ตั้งภากรณ์ นักโทษคดีฆ่าเสี่ยชูวงษ์ และคดีอุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษา ได้ลดโทษจากประหารชีวิต เหลือโทษจำคุกตลอดชีวิต
อย่างไรก็ตาม กลุ่ม สส.ภูมิใจไทย ที่ต้องโทษคดีเสียบบัตรแทนกัน ไม่เข้าข่ายได้รับประโยชน์จากพระราชกฤฎีกาฯ นี้ เพราะยังรับโทษไม่ถึง 1 ใน 3