นายจเร รุ่งฐานีย รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟฯ และ นายนเรศ ไชยวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานระบบไปรษณีย์และปฏิบัติการนครหลวง บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย กับ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เพื่อพัฒนาด้านบริการรับส่งสินค้าร่วมกัน โดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของทั้งสองฝ่ายที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมกับสนับสนุนให้สถานีรถไฟและที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศ เป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าให้แก่ประชาชนเข้าถึงบริการที่สะดวก รวดเร็ว ครอบคลุมทั่วประเทศอย่าง ไร้รอยต่อ โดยมีนายประสิทธิ์ ถาวร ผู้อำนวยการฝ่ายบริการโดยสาร การรถไฟฯ และ นางสาวชนิดา พงศ์ภัณฑารักษ์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาระบบไปรษณีย์ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องปฏิบัติการ ชั้น 3 ตึกบัญชาการ การรถไฟฯ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ
นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสํานักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านบริการรับส่งสินค้า ของการรถไฟฯ กับ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของทั้งสองหน่วยงาน ซึ่งมีบทบาทในการให้บริการรับส่งสินค้าของประเทศมาอย่างยาวนาน สามารถนำทรัพยากรและเครือข่ายด้านขนส่งที่มีอยู่ มาเชื่อมโยงเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งและกระจายสินค้าระหว่างกัน สอดคล้องกับนโยบายของนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ต้องการให้การรถไฟฯ ยกระดับการขนส่งสินค้าแบบไร้รอยต่อ สนับสนุนการขยายตัวระบบเศรษฐกิจของประเทศ
สำหรับกรอบความร่วมมือของการรถไฟฯ และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้กำหนดกรอบระยะเวลาทั้งสิ้น 5 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2567 - 16 สิงหาคม 2572 โดยมีแนวทางร่วมมือ ดังนี้
1. ส่งเสริมและสนับสนุนในการพัฒนาศักยภาพทางการตลาด ด้านช่องทางการจัดจำหน่ายและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค
2. ส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อให้ประชาชน สามารถเข้าถึงสินค้าที่ตลาดมีความต้องการสูง ในราคาที่เป็นธรรม
3. บริการรับ - ส่ง และนำจ่ายสิ่งของ โดยการเชื่อมโยงระบบการขนส่งของการรถไฟฯ และไปรษณีย์ไทย จำกัด ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศเข้าด้วยกัน ตลอดจนบริการอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมและยกระดับสินค้าโอทอป เชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตไปสู่ตลาดผู้บริโภคได้อย่างสะดวก รวดเร็ว
นอกจากนี้ ภายหลังจากการลงนามความร่วมมือแล้ว ทั้งสองหน่วยงานจะมีการจัดตั้งคณะทำงานของแต่ละฝ่ายขึ้น เพื่อร่วมกันพิจารณารายละเอียดหลักเกณฑ์เพิ่มเติม ทั้งด้านระบบงานการขนส่ง สถานที่ เส้นทางในเปิดให้บริการ อัตราค่าบริการ เพื่อให้การดำเนินความร่วมมือในครั้งนี้เกิดความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
“ที่ผ่านมา การรถไฟฯ ได้มีการพัฒนาการให้บริการขนส่งสินค้าอย่างต่อเนื่อง โดยเปิดให้บริการขนส่งพิเศษสำหรับพัสดุประเภทหีบห่อวัตถุที่มีน้ำหนักไม่เกิน 2 กิโลกรัม ในราคาชิ้นละ 30 บาททุกเส้นทาง เพื่อช่วยลดค่าครองชีพของประชาชน และภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ ร้านค้าขนาดเล็ก ร้านค้าออนไลน์ รวมถึงเอสเอ็มอี ให้มีต้นทุน การขนส่งสินค้าที่ถูกลง ประหยัดค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกัน ยังได้ร่วมมือกับภาคเอกชน จัดเดินขบวนรถสินค้าคอนเทนเนอร์ อาทิ การขนส่งทุเรียน การขนส่งเกลือ สินค้าทางการเกษตรจากโครงการหลวง ไปยังจุดหมายปลายทางต่างๆ ทั่วประเทศด้วย“
นายเอกรัช กล่าวว่า การรถไฟฯ คาดหวังว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้การขนส่งสินค้าทางรถไฟ สามารถขยายเครือครอบคลุมไปทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และรองรับการขนส่งได้หลายรูปแบบ ซึ่งจะช่วยประหยัดต้นทุนการขนส่งให้ภาคประชาชน เอกชน ตลอดจนส่งผลดีต่อการพัฒนาระบบขนส่งโลจิสติกส์ของประเทศ ให้มีศักยภาพในการแข่งขัน ทัดเทียมกับนานาประเทศ และก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของอาเซียนต่อไป โดยผู้สนใจใช้บริการขนส่งสินค้า ภาคเกษตร หรือภาคอุตสาหกรรม สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ หมายเลขโทรศัพท์ 1690 ตลอด 24 ชั่วโมง