xs
xsm
sm
md
lg

"ภูมิธรรม"สั่งทีมพาณิชย์ขยายความร่วมมือการค้าไทย-คาซัคสถาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤิทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือกับ Dr.Mirgali Kunayev กงสุลกิตติมศักดิ์ของไทยแห่งสาธารณรัฐคาซัคสถาน และ รอ.ชัชวรรณ สาครสินธุ์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงอัสตานา ที่สถานกงสุลกิตติมศักดิ์ไทย ณ นครอัลมาตี ว่า ตนได้รับนโยบายจากนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีนำทีมพาณิชย์มาหารือแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ เกี่ยวกับโอกาสทางการค้าของไทยในสาธารณรัฐคาซัคสถาน และยังได้หารือถึงความเป็นไปได้ในการเปิดสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศที่สาธารณรัฐคาซัคสถาน เพื่อให้มาทำหน้าที่เป็นด่านหน้าในการสำรวจตลาดว่าโอกาสการค้าของไทยอยู่ตรงไหน และจะขยายความร่วมมือกับผู้ซื้อ ผู้นำเข้า เพื่อผลักดันการส่งออกของไทยให้เพิ่มขึ้นได้อย่างไร ซึ่งมีความเห็นตรงกัน และกระทรวงพาณิชย์จะเร่งดำเนินการจัดตั้งต่อไป โดยจะพิจารณาความเหมาะสมในการจัดตั้งระหว่างเมืองอัสตานาและเมืองอัลมาตี

ทั้งนี้ ไทยยังได้แจ้งว่า นอกจากการหาโอกาสในการขยายโอกาสทางการค้าระหว่างไทยและคาซัคสถานแล้ว ยังมีภารกิจสำคัญ คือ การลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างไทยและคาซัคสถาน (Agreement on Trade and Economic Cooperation between Thailand and Kazakhstan) การพบหารือผู้บริหาร DAMU Industrial and Logistics Center เพื่อทราบลู่ทางในการขนส่งและกระจายสินค้าทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศของคาซัคสถาน และเป็นประธานการมอบประกาศนียบัตร Thai SELECT แก่ร้านอาหารไทยในเมืองอัลมาตี

ทั้งนี้ ได้ขอทราบแนวทางการจัดกิจกรรมที่เหมาะสมในการโปรโมตสินค้าไทยในตลาดคาซัคสถาน เพื่อให้ผู้บริโภคชาวคาซัคสถานรู้จักและต้องการใช้สินค้าไทยเพิ่มมากขึ้น และขอทราบความคิดเห็นในเรื่องการโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้าจากไทยสู่คาซัคสถาน พร้อมข้อเสนอแนะต่อผู้ประกอบการไทยที่สนใจส่งออกสินค้าสู่คาซัคสถาน

นายภูสิต ยังกล่าวด้วยว่า ได้ใช้โอกาสนี้แจ้งถึงนโยบายของรัฐบาลไทย ที่ให้ความสำคัญกับการผลักดันสินค้าและบริการของไทยที่เป็น Soft Power ให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก อาทิ ภาพยนต์ ศิลปะ การท่องเที่ยว กีฬา แฟชั่น ดนตรีและเฟสติวัล รวมถึงสินค้าอาหารไทย ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างกันได้

โดยปัจจุบันไทยมีการพัฒนาความสามารถด้านคอนเทนต์ที่มีความน่าสนใจและหลา กหลายมากขึ้น อีกทั้งมีบริการเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Production & Post Production Services) ที่เป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ โดยได้ขอทราบทิศทางนโยบายการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของคาซัคสถาน และความต้องการของอุตสาหกรรม เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับภาคธุรกิจของไทยในการรองรับการเติบโตของธุรกิจในคาซัคสถาน

ในปี 2566 มูลค่าการค้าระหว่างไทย–คาซัคสถาน มีมูลค่ารวมกว่า 172 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 26% โดยมีสินค้าส่งออกศักยภาพ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกล และส่วนประกอบของเครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น ซึ่งหากภาครัฐและเอกชนของทั้ง 2 ฝ่ายสามารถหารือและทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น จะเป็นโอกาสที่ดีในการขยายมูลค่าทางการค้าที่สูงขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง