นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานผู้มีอำนาจ (Competent Authority: CA) ของประเทศไทย ภายใต้อนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด ไม่เคยได้รับการแจ้งขอความยินยอมการนำเข้า "ฝุ่นเหล็ก" หรือ "ฝุ่นแดง" ของเสียจากอุตสาหกรรมถลุงเหล็กจากประเทศแอลเบเนีย รวมทั้งไม่เคยยินยอมหรืออนุญาตให้มีการนำเข้าของเสียดังกล่าว จึงถือเป็นการเคลื่อนย้ายของของเสียอันตรายแบบผิดกฎหมายภายใต้อนุสัญญาบาเซลฯ ทั้งยังเป็นของเสียเคมีวัตถุตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ด้วย
ทั้งนี้ มอบหมายกองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมร่วมกับหน่วยข่าวกรองและส่วนงานปราบปรามของกรมศุลกากรเพื่อเฝ้าระวังและยับยั้งการขนย้ายของเสียอันตรายแบบผิดกฎหมาย (illegal traffic) คาดว่าเป็น Electric Arc Furnace (EAF) dust หรือ "ฝุ่นแดง" ประมาณ 100 ตู้คอนเทนเนอร์ รวม 816 ตัน ตามที่ได้รับการประสานงานและแจ้งข่าวการขนส่งของเสียดังกล่าวจากองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรหรือ NGO ด้านสิ่งแวดล้อม 3 แห่ง ได้แก่ เครือข่าย Basel Action Network (BAN) สหรัฐอเมริกา องค์กร Friends of the Earth ประเทศแอฟริกาใต้ และมูลนิธิบูรณะนิเวศ หรือ EARTH ประเทศไทยเพื่อยับยั้งการเคลื่อนย้ายของเสียแบบผิดกฎหมายด้วยเรือขนส่งสินค้า 2 ลำ ที่มีต้นทางจากประเทศแอลบาเนีย และมีปลายทางคือ ประเทศไทย
อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า เมื่อปี 2565 ประเทศไทยเคยมีหนังสือถึงรัฐบาลประเทศแอลบาเนียไม่ยินยอมให้นำเข้า "ฝุ่นแดง" มายังราชอาณาจักรไทยมาแล้ว ล่าสุดได้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานผู้มีอำนาจ (CA) ของประเทศแอลบาเนียซึ่งเป็นประเทศต้นทาง) และหน่วยงาน National Environment Agency ซึ่งเป็นหน่วยงานผู้มีอำนาจ (CA) ของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศผู้นำผ่าน ตามที่คาดการณ์ว่า จะมีการถ่ายลำเรือของเสีย เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับจึงให้เฝ้าระวังบริเวณท่าเรือและยับยั้งให้ได้ โดยประสานงานกับกรมศุลกากรเพื่อติดตามตรวจสอบการนำของเสียอันตรายที่ไม่ได้รับอนุญาต เข้ามาในราชอาณาจักรไทยอย่างต่อเนื่อง
ในการประสานงานไปยัง National Environment Agency ของประเทศสิงคโปร์ก่อนหน้านี้ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ยืนยันว่า ไม่ได้รับแจ้งขอการยินยอมในการนำเข้าสินค้าจากแอลเบเนียและมิได้อนุญาตให้นำเข้า พร้อมขอให้สิงคโปร์ให้ระงับการนำผ่านเนื่องจากไทยมิได้อนุญาตให้มีการนำเข้าแต่อย่างใด National Environment Agency ของสิงคโปร์แจ้งว่า ได้จัดทีมทำงานในการเฝ้าระวังด่านท่าเรือ หากพบเรือ 2 ลำดังกล่าวจะแจ้งไทยให้ทราบโดยด่วน โดยตามรายงานเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2567 เวลา 15.00 น. ทางสิงคโปร์ระบุว่า ยังไม่ปรากฏเรือต้องสงสัยเข้ามาเทียบท่า ณ ประเทศสิงคโปร์
นอกจากนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมยังเฝ้าระวังโรงงานรีไซเคิลในไทยที่คาดว่าจะเป็นโรงงานนำเข้า ขณะที่กรมศุลกากรได้รับการประสานงานให้ เฝ้าระวังเรือขนส่งของเสียอันตราย 2 ลำ ที่อาจมุ่งมาเทียบท่าที่ประเทศไทย