อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า "ชัวร์ก่อนแชร์ : กินกุ้งกับวิตามินซี ก่อสารหนูถึงตาย จริงหรือ ?"
บนสื่อสังคมออนไลน์มีการแชร์เรื่องราวของคนที่เสียชีวิต คาดว่าเพราะกินวิตามินซีกับกุ้ง ทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีแปรรูปเป็นสารหนูได้นั้น เรื่องนี้จริงหรือไม่ ?
ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ดังนี้
รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อาจารย์ชฎามาศ พรหมคำ นักปฏิบัติการวิจัย สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
- ข้อความที่แชร์กัน “กินวิตามินซีและกุ้ง เกิดปฏิกิริยาเคมีเป็นสารหนูทำให้เสียชีวิต” เป็นจริงมากน้อยแค่ไหน ?
รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ กล่าวว่าเรื่องนี้ไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าผู้หญิงคนนี้และศาสตราจารย์ที่ถูกอ้างว่าพูดถึงเรื่องนี้มีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ ซึ่งข่าวที่ออกมาดูเหมือนถูกสร้างขึ้นมาลอย ๆ
อาหารทะเลโดยเฉพาะในกุ้งก็ไม่ได้มีสารหนูมากถึงขนาดทำอันตรายจนถึงตาย
สอดคล้องกับความเห็นของ อาจารย์ชฎามาศ พรหมคำ ข้อความที่แชร์กันยังไม่พบว่ามีหลักฐานปรากฏ ทั้งหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่กล่าวอ้าง หรือบุคคลที่ถูกกล่าวอ้างก็ยังไม่พบว่ามีข้อมูลที่เป็นจริง
- กินวิตามินซี มีอันตรายอะไรหรือไม่ ?
วิตามินซี (Vitamin C) หรือ กรดแอสคอร์บิก (Ascorbic Acid) คือวิตามินที่ร่างกายต้องการเพื่อช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยรักษาสุขภาพของเนื้อเยื่อต่าง ๆ และปกป้องเซลล์ภายในร่างกาย ช่วยในการสมานแผล และการดูดซึมธาตุเหล็ก รวมถึงเป็นตัวช่วยในการสร้างคอลลาเจน ซึ่งเป็นสารที่ช่วยในการซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น กระดูก ฟัน และผิวหนัง
“วิตามินซี” เมื่อกินเข้าไปแล้วยังไม่พบว่าทำปฏิกิริยากับสารใดในร่างกาย
การกินวิตามินซีจำนวนมากเกินกว่าที่ร่างกายจะรับได้ ร่างกายจะขับออกมาทางปัสสาวะ
- ประเภทของ “สารหนู”
สารหนู (Arsenic) เป็นสารโลหะหนักที่เกิดพิษกับร่างกายได้บ่อยในปัจจุบัน
“สารหนู” เป็นคำที่ใช้แทน Arsenic ในภาษาไทย บางครั้งจึงทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าสารหนูคือ “ยาฆ่าหนู” ซึ่งเป็นคนละชนิดกัน
สารหนูมี 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
สารหนูอินทรีย์ เกิดขึ้นตามธรรมชาติ มีพิษต่ำมาก ไม่เป็นอันตรายต่อชีวิต
สารหนูอนินทรีย์ เกิดจากการสังเคราะห์ มีพิษร้ายแรง ทำให้เสียชีวิตได้
ส่วนใหญ่สารหนูอินทรีย์พบมากในอาหารทะเลทั่ว ๆ ไป และไม่เฉพาะเจาะจงเป็นกุ้งเท่านั้น แต่มีพิษต่ำมาก และก็ยังไม่มีรายงานการเกิดพิษจากสารหนูอินทรีย์
ดังนั้น การกินอาหารทะเลในระดับปกติ หรือมากกว่าปกติ จะไม่ได้รับพิษจากสารหนูเลย ยกเว้นสัตว์ทะเลที่จับได้ในบริเวณที่มีการทำอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องกับสารหนู และก่อให้เกิดการปนเปื้อนของสารหนูในปริมาณที่สูงมาก ๆ ก็เป็นไปได้ที่ผู้บริโภคจะได้รับพิษจากสารหนู
อาการพิษจากสารหนูเกิดได้ใน 2 กรณีคือ อาการเป็นพิษเฉียบพลัน และอาการเป็นพิษเรื้อรัง
อาการเป็นพิษเฉียบพลัน ผู้ป่วยได้รับสารหนูขนาดสูงเพียงครั้งเดียว เช่น กินยาผิดหรือในรายที่ใช้ยาเบื่อหนูหรือยาฆ่าแมลงเป็นยาฆ่าตัวตาย โดยการดื่มเข้าไปปริมาณมาก กรณีเช่นนี้จะเกิดอาการร้อนปาก ร้อนท้อง ปวดท้องรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน แน่นหน้าอก ความดันเลือดตก เม็ดเลือดแดงแตกจนไตวาย หมดสติ และถึงแก่ชีวิตได้ ถ้าไม่เสียชีวิตในเวลาสั้นก็อาจพบอาการทางผิวหนัง เป็นแผลพุพองลอกเป็นแผ่นทั่วตัว มีผมร่วงจนหมดศีรษะในเวลาต่อมา
อาการเป็นพิษเรื้อรัง พบบ่อยกว่าชนิดเฉียบพลันเพราะไม่ใช่อุบัติเหตุแต่ค่อย ๆ เป็น โดยผู้ที่ได้รับสารหนูไม่รู้สึกตัวและกว่าจะเกิดอาการหลังจากได้รับยาที่มีสารหนูเป็นเวลานานมาแล้ว อาจนาน 5-10 ปี บางครั้งผู้ป่วยเองแทบไม่เชื่อว่าโรคที่เกิดขึ้นเป็นผลจากยาซึ่งเคยกินมาเมื่อ 10 ปีก่อน แล้วเพิ่งจะมาออกฤทธิ์ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างช้า ๆ อาการพิษเกิดได้กับอวัยวะและตับ ระบบไต ระบบประสาท และผิวหนัง
สำหรับสารหนูที่พบในกุ้งหรือเปลือกกุ้งเป็นสารหนูในรูปของสารอินทรีย์มากกว่า และพบว่าไม่เป็นพิษต่อร่างกายมากนัก ถ้าได้รับปริมาณไม่มาก
- สารหนูอินทรีย์พบกับวิตามินซีเป็นพิษอย่างที่แชร์กันหรือไม่ ?
รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า จริง ๆ แล้วการกินวิตามินซีกับกุ้ง ในอาหารทั่วไปที่กินกันก็มีอยู่แล้ว เช่น ต้มยำกุ้ง มีการใส่น้ำมะนาวที่มีรสเปรี้ยวลงไปผสมกับเนื้อกุ้ง นั่นคือการวิตามินซีกับกุ้งอยู่แล้วก็ไม่มีใครเป็นอะไร
การกินกุ้งเผาจิ้มกับน้ำจิ้มซีฟู้ดเปรี้ยว ๆ หรือส้มตำใส่กุ้งแห้งก็ไม่ได้เกิดสารหนูอย่างที่มีการแชร์กัน ซึ่งเรื่องนี้ถูกสร้างขึ้นมาให้คนหวาดกลัว
อาจารย์ชฎามาศ พรหมคำ กล่าวว่าคนปกติทั่วไปกินอาหารกับน้ำจิ้มซีฟู้ดก็มีวิตามินซีจากมะนาวค่อนข้างมากอยู่แล้ว และสามารถกินกุ้งได้ตามปกติด้วย
ทั้งนี้ ควรเลือกกินอาหารหลากหลายชนิด เพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับสารพิษเดิม ๆ ซึ่งรวมถึงกินผักและผลไม้เพิ่มเติม เพราะใยอาหารจากผักและผลไม้จะช่วยดูดซับสารพิษและกำจัดออกจากร่างกาย
สรุป : เรื่องนี้ไม่จริง ไม่ควรแชร์ต่อ เพราะที่ผ่านมาแชร์กันมากกว่า 10 ปี สร้างความวิตกกังวลให้กับคนจำนวนมาก