xs
xsm
sm
md
lg

"อ.เจษฎา"เตือนไม่ควรเอาถ่านไฟฉาย -แบตเตอรีไปถูกความร้อนสูง เสี่ยงเกิดอันตราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กเตือน "ไม่ควรเอาถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ ไปถูกความร้อนสูง (รวมถึงไปเคาะกระแทกแรงๆ ด้วย)"

วันนี้มีการแชร์คลิปวิดีโอ ที่บอกว่าเป็นการเล่าความลับที่โรงงานผลิตถ่านไฟฉาย-แบตเตอรี่ ไม่อยากให้คุณรู้ นั่นคือ ถ้าถ่านหมด อย่าทิ้ง ให้เอามาทำแช่น้ำร้อนจัด+แช่น้ำเย็นน้ำแข็ง หรือเอามาเคาะพื้น ถ่านจะกลับมาใช้ต่อได้อีกนานหลายสัปดาห์หรือเป็นหลายเดือน !?

พร้อมทั้งทำการทดลองให้ดูด้วย ว่าถ่านที่หมดแล้ว ใส่นาฬิกาแล้วไม่เดิน ก็กลับมามีไฟฟ้าใช้ได้ใหม่อีกครั้ง !? ทำเอาผู้คนสนใจ และส่งมาถามกันนับสิบเลยว่า วิธีนี้มันใช้ได้จริงหรือไม่ และจะเป็นอันตรายหรือเปล่า ?

แบตเตอรี่ หรือที่เราชอบเรียกกันว่า ถ่านไฟฉาย นั้น เป็นแหล่งสะสมพลังงานไฟฟ้าขนาดเล็ก ทำหน้าที่เปลี่ยนพลังงานจากปฏิกิริยาของสารเคมี ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า เอาไปใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ

จริงๆ แล้ว วิธี "กระตุ้น" ด้วยอุณหภูมิสูง หรือด้วยแรงกระแทกเช่นนี้ ไม่ได้เป็นการมอบ "พลังงาน" ให้กับถ่านไฟฉายของเรา แต่เป็นการไปช่วยให้ปฏิกิริยาของสารเคมีตัวนำไฟฟ้า หรือสารอิเล็กทรอไลต์ (electrolyte) ที่มีประจุไฟฟ้าต่างกัน ได้ทำปฏิกิริยากันได้ทั่วถึงมากขึ้นอีกนิดหน่อย ทำให้แบตเตอรี่เหมือนจะมีไฟฟ้ากลับคืนมา แต่อีกไม่นาน มันก็จะหมดไป ... พูดง่ายๆ ก็เหมือนไป "เค้น" ให้มันปล่อยไฟฟ้าออกมาให้เกลี้ยงที่สุด

แต่ๆๆ การที่ให้แบตเตอรี่ถูกความร้อนสูง หรือถูกกระแทกรุนแรงนั้น ก็อาจจะไปสร้างความเสียหายกับองค์ประกอบภายในก้อนถ่าน และกับซีลเปลือกนอกที่ห่อหุ้มถ่านเอาไว้ ซึ่งนำไปสู่อันตรายจากการที่ถ่านรั่วซึม สารเคมีไหลออกมา หรือแตกเสียหาย จึงไม่ใช่วิธีการที่ปลอดภัยต่อการใช้ และควรจะหลีกเลี่ยงไม่ทำตาม

ภายในของถ่านไฟฉาย มีส่วนประกอบของสารเคมีอันตรายหลายชนิด เช่น สารตะกั่ว สารแมงกานีส สารแคดเมียม สารนิเกิล สารปรอท และกรดซัลฟิวริก เป็นต้น สารเคมีที่เป็นพิษเหล่านี้ สามารถเข้าสู่ร่างกายของคนเราได้ ผ่านการหายใจและการซึมเข้าผิวหนัง ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บป่วยอย่างเฉียบพลันหรือเรื้อรัง นอกจากนั้น สารพิษเหล่านี้ยังมีโอกาสที่จะปนเปื้อนในดิน ในแหล่งน้ำ รวมถึงเป็นมลพิษทางอากาศ ถ้ามีไอระเหยของสารเคมีแพร่กระจายออกไป

ดังนั้น เราจึงไม่ควรทิ้งถ่านไฟฉาย รวมกับขยะอื่นๆ ตลอดจนไม่ทิ้งลงสู่แหล่งน้ำหรือท่อระบายน้ำ และห้ามนำไปเผาโดยเด็ดขาด ! แต่ให้เก็บรวบรวม แล้วใส่รวมกันในถุงขยะ โดยแยกออกมาจากขยะชนิดอื่น มัดปากถุงให้แน่นสนิท แล้วติดป้ายเตือนว่า "เป็นขยะมีพิษ" เพื่อแจ้งให้คนเก็บขยะทราบ หรือนำไปทิ้งในกล่องที่รับทิ้งถ่านไฟฉาย-แบตเตอรี่โดยเฉพาะ

สำหรับวิธีการที่ดีที่สุดในการใช้ถ่านไฟฉาย-แบตเตอรี่ คือการนำไปใช้ตามที่ผู้ผลิตกำหนด และใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เหมาะสมเท่านั้น ตลอดจน ควรจะเปลี่ยนเป็นถ่านก้อนใหม่เมื่อไฟหมดแล้ว โดยไม่ควรพยายามไป "กระตุ้น" มันด้วยวิธีการที่รุนแรง

การที่เราใช้วิธีการกระตุ้นถ่ายไฟฉาย แล้วเอากลับไปใส่เครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อีกครั้ง ด้วยความเข้าใจผิดว่ามันจะกลับมามีพลังใหม่ได้อีกเป็นเดือนๆ กลับจะทำความเสียหายให้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าของเราได้ เนื่องจากปฏิกิริยาเคมีภายในถ่านไฟฉายนั้น จะทำให้สารเคมีภายในถ่านเปลี่ยนรูปกลายเป็นของเหลว ถ่านไฟฉายเกิดอาการเปียกเยิ้ม บวม เสื่อมสภาพ และของเหลวอันตรายที่รั่วไหลออกมานี้ ก็จะสร้างความเสียหายให้อุปกรณ์ไฟฟ้าของเราได้

สำหรับคำแนะนำในการใช้ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ ที่ถูกต้องเหมาะสม มีดังนี้

- ควรเปลี่ยนถ่านพร้อมกันทุกก้อนในคราวเดียวกัน ไม่ปะปนกับถ่านเก่า

- ปิดสวิตช์อุปกรณ์ทุกครั้งหลังการใช้งาน อย่าเปิดค้างไว้โดยไม่จำเป็น

- ไม่ควรนำถ่านหลายชนิดหรือหลายยี่ห้อมาใช้ปะปนกัน

- นำถ่านออกจากอุปกรณ์ทุกครั้งหลังการใช้งาน

- ตรวจสอบวิธีการใส่ถ่านและขั้วถ่านให้ถูกต้องเสมอ

- ไม่แกะชิ้นส่วนถ่านออกมาเล่นและไม่ควรวางถ่านไว้ในที่ที่มีความร้อนสูง

- หลีกเลี่ยงการทำให้ถ่านเกิดการช็อตกัน

- ห้ามนำถ่านที่ชาร์จไฟไม่ได้มาชาร์จไฟใหม่ เพราะอาจเกิดอันตรายได้

- ควรซื้อถ่านไฟฉายจากแหล่งที่เชื่อถือได้หรือยี่ห้อที่มีการรับรองความปลอดภัย ไม่ควรซื้อถ่านไฟฉายราคาถูก เพราะจะได้ถ่านไฟฉายที่ไม่มีคุณภาพและอาจเกิดอันตรายขณะใช้งาน