xs
xsm
sm
md
lg

กระทรวงเกษตรฯ ประกาศทำสงครามกับ"ปลาหมอคางดำ"ลั่น! 3 เดือนต้องลดลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดปฏิบัติการกำจัดปลาหมอคางดำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พร้อมรับฟังความเดือดร้อนจากชาวบ้าน ณ ศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรประจำแขวงแสมดำ บริเวณคลองเกาะโพธิ์ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร หลังพบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งและชาวประมงที่หากินในพื้นที่

นายอรรถกร กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำที่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วลงสู่แหล่งน้ำเป็นวงกว้าง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไขปัญหา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ 2567-2570 ประกอบด้วย 7 มาตรการ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอเพื่อแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ โดยใช้กรอบงบประมาณ 450 ล้านบาท ประกอบด้วย

1. ควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด โดยการจับออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติด้วยเครื่องมือประมงที่ทีประสิทธิภาพ และกำจัดจากบ่อเพาะเลี้ยงด้วนกากชา

2. กำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยการปล่อยปลาผู้ล่าอย่างต่อเนื่อง และปล่อยปลาผู้ล่าตามความเหมาะสมของแหล่งน้ำ ไม่น้อยกว่า 5 ล้านตัว ในพื้นที่เป้าหมาย 16 จังหวัด

3. การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ เช่น การแปรรูป (น้ำหมัก)

4. สำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายประชากรปลาหมอคางดำในพื้นที่เขตกันชน

5. สร้างความรู้ ความตระหนัก และการมีส่วนร่วมในการกำจัด จัดทำคู่มือประชาชนและเจ้าหน้าที่เพื่อรับมือการแพร่ระบาด

6. พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมด้านประมง ด้วยการเหนี่ยวนำโครโมโซม / ใช้ฟีโรโมน แสงสี ให้ปลาหมอคางดำรวมตัวกัน เพื่อการจับที่ง่ายขึ้น และ

7. ฟื้นฟูระบบนิเวศ ทำการสำรวจแหล่งน้ำต่างๆ ว่าเคยมีสัตว์น้ำประจำถิ่นอะไรบ้าง จากนั้นเพาะพันธุ์เพื่อนำไปปล่อยคืนฟื้นฟูระบบนิเวศ

วันนี้ (1 ส.ค.) เป็นวันแรกของมาตรการกำจัดปลาหมอคางดำ ที่รัฐบาลเห็นชอบต่อหลักการฯ สิ่งที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์สามารถทำได้เลยก็คือ การเปิดสงครามกับปลาหมอคางดำ หลังจากที่ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นจากประชาชน 16 จังหวัดที่พบการระบาดของปลาหมอคางดำ และวันนี้มีจำนวน 17 จังหวัดแล้ว รวมถึงรับฟังความคิดเห็นจากสมาคมประมงไทย ประมงพื้นบ้าน ซึ่งรวบรวมออกมาได้เป็น 7 มาตรการ

มาตรการเร่งด่วนก็คือความร่วมมือกับพื้นที่เร่งกำจัดปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำ โดยเฉพาะแหล่งน้ำธรรมชาติ แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะมีการกำจัดปลาหมอปลาดำจากแหล่งน้ำบ้างแล้ว แต่เมื่อเทียบกับปริมาณการวางไข่ในทุกๆ 22 วัน จึงเชื่อว่าในแหล่งน้ำธรรมชาติยังมีปลาหมอคางดำอยู่อีกจำนวนมาก ซึ่งในพื้นที่บางขุนเทียนถือว่าเป็นพื้นที่แรก ที่ตนเองซึ่งได้รับมอบหมายโดยตรงจากนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการเป็นประธานดำเนินการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำ ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึง 3 เดือนจากนี้ สิ่งที่จะต้องทำคือเร่งจับปลาหมอคางดำออกจากระบบนิเวศให้ได้มาที่สุด เพื่อดำเนินมาตราการอื่นๆต่อไป

ส่วนการหาตัวต้นตอที่ทำให้ปลาหมอคางดำหลุดออกสู่แหล่งน้ำธรรมชาตินั้น หากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทราบว่าใครคือต้นตอ ก็จะต้องดำเนินการ ทั้งนี้ ยืนยันว่า ตนเองไม่ได้รู้จักกับใคร ไม่ได้รับเงินเดือนจากบริษัทไหน ตนเองและรับเงินเดือนผ่านสำนักเลขานายกรัฐมนตรี ซึ่งทุกบาททุกสตางค์มาจากภาษีของประชาชน ดังนั้นเมื่อได้รับมอบหมายให้มาทำตรงนี้ก็จะไม่อิงนโยบายของใครนอกจากนโยบายของนายกรัฐมนตรี และนโยบาย ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เท่านั้น

นอกจากนี้ กรมประมงยังได้บูรณาการทำงานร่วมกับกรมพัฒนาที่ดิน ในการนำปลาหมอคางดำที่จับขึ้นมาได้ไปผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพ โดยการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) สนับสนุนงบประมาณ 50 ล้านบาท ในการรับซื้อปลาหมอคางดำในพื้นที่ที่พบการระบาด 17 จังหวัด รวม 75 จุด พร้อมยืนยันว่า งบดังกล่าวของ กยท.ไม่เกี่ยวข้องกับเงินกองทุนในการช่วยเหลือสมาชิกชาวสวนยาง และเป็นงบประมาณคนละก้อนกับงบ 450 ล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติสำหรับการกำจัดปลาหมอคางดำเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

นายอรรถกร กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประชุมภายในทั้งหมด 22 หน่วยงานของกระทรวง ซึ่งได้ข้อสรุปว่าจะไม่ปล่อยให้กรมประมงเดียวดาย อีก 21 หน่วยงาน หน่วยงานใดที่มีความพร้อม สามารถมาช่วยเหลือได้ ก็ยินดี ดังนั้นจึงเป็นการวางกรอบมาตั้งแต่ต้นแล้วว่าจะใช้เงินทุนของการยางแห่งประเทศไทยมาช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ซึ่งเงินจำนวนนี้เป็นคนละก้อนกับเงินกองทุนที่ใช้ในการบริหารจัดการช่วยเหลือพี่น้องชาวสวนยาง ในยามที่เกิดปัญหา