นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า การที่สื่อมวลชนและนักวิเคราะห์ ต่างให้ความสนใจแต่ประเด็นที่ว่า เมื่อพรรคก้าวไกลถูกยุบแล้ว ใครจะขึ้นมาเป็นแกนนำพรรคถัดไป จะมี ส.ส.ย้ายไปพรรคอื่นกี่คน โดยไม่ได้สนใจเรื่องศาลรัฐธรรมนูญ กกต. การต่อสู้คดี ประเด็นกฎหมาย หรือการยุบพรรคแบบที่ทำกันนี้ถูกต้องหรือไม่?
กรณีเช่นนี้ สะท้อนอะไร?
1. การยุบพรรคในประเทศนี้ ไม่มีใครสนใจเรื่องกฎหมาย เรื่องหลักการกันแล้ว
2. การยุบพรรคในประเทศนี้ กลายเป็น เครื่องมือของ “นิติสงคราม” โดยสัมบูรณ์
3. วิเคราะห์การเมืองว่าใครเป็นแกนนำ ใครย้ายพรรค สนุกกว่าเยอะ ดราม่ากว่าเยอะ สื่อสารง่ายกว่าเยอะ ไม่ต้องทำความเข้าใจเรื่องกฎหมายยากๆ
4. ทำข่าวง่ายดี แค่เอาไมโครโฟนไปไล่ถาม ส.ส.พรรคก้าวไกล แล้วไม่ต้องมาเสี่ยงเผชิญหน้ากับศาลรัฐธรรมนูญ ไม่เสี่ยงโดนข้อหาละเมิดอำนาจศาล ดูหมิ่นศาล
ถ้าปรากฏการณ์เช่นนี้ ยังคงดำเนินต่อไป อาวุธที่ชื่อ “ยุบพรรค” ก็ยังคงมีอานุภาพต่อ
กว่าจะถึงวันที่ 7 สิงหาคม มีเวลาอีกหลายวัน หันมาสนใจประเด็นการต่อสู้คดีของพรรคก้าวไกล ความสมเหตุสมผลของคำร้องของ กกต. กันดีกว่า
สัปดาห์นี้ ผมจะขยายความข้อต่อสู้ของพรรคก้าวไกล ในทุกประเด็นครับ