นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 19 - 25 กรกฎาคม 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 851,933 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 248 ข้อความ
สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 204 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 43 ข้อความ และผ่านช่องทาง Facebook จำนวน 1 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 209 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 102 เรื่อง โดยในจำนวนนี้มีข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนให้ความสนใจมากที่สุด จำนวน 10 อันดับ ได้แก่
อันดับที่ 1 : เรื่อง ปปง. เปิดเพจแจ้งความออนไลน์ ชื่อว่า ศูนย์รับเรื่อง-ลงทะเบียนและตรวจสอบเพื่อรับเงินคืนจากคดีออนไลน์
อันดับที่ 2 : เรื่อง ปปง. เปิดให้ลงทะเบียนรับเงินคืน ผ่านเพจศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ AOC
อันดับที่ 3 : เรื่อง เพจกระทรวงยุติธรรมปรึกษากฎหมาย รับเรื่อง ร้องเรียน ร้องทุกข์ เป็นเพจที่กระทรวงยุติธรรมจัดทำขึ้น
อันดับที่ 4 : เรื่อง กระทรวงยุติธรรมเปิดเพจ Rescue crime เพื่อแจงขั้นตอน ยื่นคุ้มครองสิทธิ ขอเงินคืน
อันดับที่ 5 : เรื่อง พม. เปิดเพจเฟซบุ๊ก ศูนย์ตรวจสอบ-ลงทะเบียนเพื่อรับเงินคืนจากคดีออนไลน์
อันดับที่ 6 : เรื่อง ตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ผู้ลงทุนโอนเงินเพื่อขอรับรองหรือรับประกันวงเงินซื้อขายหลักทรัพย์
อันดับที่ 7 : เรื่อง กรมการจัดหางาน เปิดช่อง TikTok @dy18ozezoiod
อันดับที่ 8 : เรื่อง ลงทะเบียนรับทรัพย์สินคืนจากอาชญากรรมออนไลน์ ผ่านเพจ ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ – ETDA
อันดับที่ 9 : กรมพัฒนาฝีมือแรงงานเปิดเพจเฟซบุ๊กใหม่ เพื่อรับสมัครงาน
อันดับที่ 10 : เรื่อง TikTok ศูนย์มาตรฐานฝีมือแรงานโฮมโปร สร้างช่างมืออาชีพตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ