พรรคก้าวไกล จัดแถลงข่าวกรณีการทุจริตจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายของกรุงเทพมหานคร นำโดย น.ส.ภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย ส.ก.เขตบางซื่อ นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส.กรุงเทพฯ และ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ
นายศุภณัฐ กล่าวว่า การแถลงวันนี้เพื่อตรวจสอบการทุจริตเครื่องออกกำลังกาย หลังตนเปิดเผยข้อมูลตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน ต่อมากรุงเทพมหานครเริ่มกระบวนการสอบภายใน จนกระทั่ง 4 กรกฎาคม ทางกรุงเทพมหานครแถลงว่าเครื่องออกกำลังกายเหมือนจะมีราคาสูงกว่าท้องตลาด และทางชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ให้สรุปผลการสอบสวนภายใน 30 วัน ครบกำหนดไปแล้วเมื่อ 19 กรกฎาคม แต่กลับไม่มีการแถลง กระทั่ง 24 กรกฎาคม ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครให้สัมภาษณ์ว่าผลสรุปเอกสารมีความหนาเยอะมาก เป็นชั้นความลับ ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ มีการสอบถามราคาไปยัง 10 บริษัทแต่ไม่ได้รับคำตอบเลย ที่สำคัญคือผู้ว่าฯ ชัชชาติ ยังไม่ระบุว่ามีการทุจริตหรือไม่ ในฐานะคนที่เปิดเผยข้อมูลนี้และติดตามมาตลอด จึงขอแถลงเพิ่มเติมเผื่อเป็นประโยชน์กับทางกรุงเทพมหานคร ว่าเรื่องนี้มีกระบวนการที่ไม่เหมาะสมอย่างไร โดยมีทฤษฎีที่ตนตั้งชื่อว่า "สามล็อก" เพื่อกำหนดว่าเครื่องออกกำลังกายยี่ห้อไหนจะชนะ และบังเอิญเมื่อเป็นยี่ห้อนี้ จะมีบริษัทนี้ชนะอยู่เสมอ โดยข้อมูลทั้งหมดนี้ ตนได้มาจากกรุงเทพมหานครเอง
ซึ่งทฤษฎีสามล็อก ได้แก่ (1) ล็อกสเปก จะมีการระบุคำสำคัญที่เมื่ออ่านแล้วชัดเจนมากว่าต้องเป็นยี่ห้อไหน เช่น เครื่องออกกำลังกายต้องมีหน้าจอแบบ high contrast display โปรแกรมออกกำลังกายต้องมี leaning, turning, crouching เป็นการล็อกให้ยี่ห้อ Pulse Fitness หรือการกำหนดโปรแกรมออกกำลังกาย horse racing ซึ่งมีอยู่บริษัทเดียวคือบริษัทจีน WQN fitness
(2) ล็อกสืบราคา เมื่อล็อกสเปกแล้ว ต่อมาคือทำให้ราคากลางสูง โดยมักมีข้อผูกพันอะไรบางอย่าง เช่น ถ้ามีการเขียนสเปคให้เป็นของยี่ห้อ Pulse Fitness ก็จะมีการสืบราคาซึ่งอย่างน้อย 1 ใน 3 เจ้า ต้องเป็นบริษัท A ตลอดเวลา หรือถ้าเป็นยี่ห้อ WQN fitness ก็จะสืบราคาจากบริษัท B ทุกครั้ง จึงต้องฝากไปยังกรมบัญชีกลางว่าถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่ต้องกำหนดราคากลางของเครื่องออกกำลังกาย และ (3) ล็อกผลงาน ในกรณีล็อกทั้ง 2 ข้อแรกแล้ว แต่บังเอิญมีคนหลุดมาได้ ก็จำเป็นต้องใช้ล็อกผลงานเพื่อสกัดอีกชั้น ซึ่งที่ผ่านมา กทม. ไม่ได้มีมาตรฐานตายตัว บางโครงการกำหนดวงเงินหรือกำหนดจำนวนสัญญา เช่น ในโครงการมูลค่า 8 ล้านบาท กำหนดต้องมีผลงาน 3 ล้านบาทหนึ่งสัญญา แต่ในอีกโครงการซึ่งแพงกว่ากันไม่มาก 11 ล้านบาท กลับกำหนดตัวผลงานที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน คือต้องมีผลงาน 5 ล้านบาท อย่างน้อย 3 สัญญาในเวลา 4 ปี โดยจากข้อมูลจะเห็นว่า กทม. มีการปรับเรื่องผลงานอยู่ทุกครั้งเพื่อสกัดบางเจ้าออกไปและให้บางเจ้าเท่านั้นเข้ามาได้ ทั้งนี้ เมื่อย้อนไปยุคอดีตผู้ว่าฯ อัศวิน ขวัญเมือง ก็มีการล็อกสเปกหลายโครงการ ซึ่งไม่ได้หมายถึงอดีตผู้ว่าเกี่ยวข้อง ส่วนยุคผู้ว่าฯ ชัชชาติ จากที่มีข้อมูล มีการล็อกสเปกอย่างต่ำ 12-13 จากทั้งหมด 14 โครงการ
โดยกรุงเทพมหานครไม่สามารถปฏิเสธว่าไม่รับรู้รับทราบได้อีกแล้ว เพราะมีห้างหุ้นส่วนแห่งหนึ่งร้องเรียนว่ามีการล็อกผลงาน ล็อกสเปก แต่กรุงเทพมหานครกลับตอบว่าห้างหุ้นส่วนดังกล่าวอาจไม่ได้เปิดเผยตัวตนจริงหรือใช้ชื่อปลอม จึงมีมติไม่ขอตอบข้อวิจารณ์ที่เสนอมา เหมือนอ่านแล้วผ่านไป ไม่ได้เปลี่ยนแปลงการจัดทำข้อกำหนดโครงการ (TOR) ใดๆ ทั้งสิ้น
ส่วนเรื่องเครื่องออกกำลังกายราคาแพง คณะกรรมการของกรุงเทพมหานครก็รับทราบ แต่สิ่งที่กรุงเทพฯ ตอบคือพิจารณาแล้วเห็นว่าราคา 759,000 บาทที่มีการอ้างนั้น เป็นราคาของเครื่องออกกำลังกายภายในบ้าน ( home use) แต่ราคาที่คณะกรรมการฯ กำหนดเป็นสำหรับผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์ (commercial) ซึ่งมีโครงสร้างและวัสดุที่แข็งแรงทนทาน ประหยัดงบประมาณในการซ่อมบำรุง นี่เท่ากับกรุงเทพมหานครยอมรับหรือไม่ว่าราคา 759,000 บาท เป็นราคาที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม กระบวนการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายแพง เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ไม่ใช่แค่กรุงเทพมหานครสาเหตุสำคัญเพราะกรมบัญชีกลางไม่มีการกำหนดมาตรฐานราคากลางของเครื่องออกกำลังกาย ทำให้ทุกองค์กรชอบที่จะซื้อเครื่องออกกำลังกายเหล่านี้ และทำให้ทุกองค์กรต้องไปสืบราคาอย่างน้อย 3 เจ้า และเกิดปัญหาตามทฤษฎีสามล็อกที่กล่าวไป จึงขอเรียกร้องให้ทางกรุงเทพมหานครตอบได้แล้วว่ากระบวนการเหล่านี้ถือเป็นการทุจริตหรือไม่
ทั้งหมดนี้คือสภาพของการจัดซื้อจัดจ้างที่บิดเบี้ยวแม้เป็นการทำตามระเบียบตามที่ฝ่ายบริหารของกรุงเทพมหานครแจ้ง ซึ่งเรื่องนี้บริษัทที่เข้าประมูลไม่สามารถทำได้ด้วยตัวคนเดียว ตนเข้าใจว่าทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กำลังตรวจสอบอยู่
ส่วนฝ่ายบริหารก็ตั้งคณะกรรมการสอบสวน แต่จากที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแถลงเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม บอกว่าไม่มีข้อมูลใหม่ ไม่สามารถเปิดเผยอะไรได้เลย ให้ข้าราชการตรวจสอบกันเอง ก็เป็นที่น่าสงสัยว่าการตรวจสอบนี้มีประสิทธิภาพหรือไม่ คณะกรรมการของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จงใจดึงเรื่องหรือไม่ จึงหวังว่าในวันพรุ่งนี้ (30 ก.ค.) ที่จะมีการแถลงข่าวเรื่องนี้ จะมีข้อมูลมากกว่านี้
จึงเชื่อว่าประชาชนยังติดตามเรื่องนี้อยู่และต้องการคำตอบที่หนักแน่นชัดเจน ว่าท่านมีเจตจำนงในการต่อต้านการทุจริตอย่างแท้จริง ในฐานะ สก. ที่มีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร หวังว่าความผิดปกติในการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องออกกำลังกายที่เกิดขึ้น จะไม่ซ้ำรอยอีกในร่างข้อบัญญัติงบประมาณปี 2568 ที่จะเข้าสภา กทม. พรุ่งนี้