นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงหลักเกณฑ์และอัตราค่าบริการทางการแพทย์กรณีการรักษาผู้ประกันตนที่สูญเสียดวงตา โดยการผ่าตัดใส่ลูกตาเทียมเฉพาะบุคคล ซึ่งเป็นหนึ่งในสิทธิประโยชน์กรณีเจ็บป่วยของกองทุนประกันสังคม ว่า ปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ที่เป็นนวัตกรรมด้านการรักษาผู้ประกันตนที่สูญเสียดวงตาด้วยลูกตาเทียมเฉพาะบุคคล มีหลักเกณฑ์และอัตราค่าบริการทางการแพทย์ รายละเอียดดังนี้
1. ผู้ประกันตนจะต้องเป็นผู้ที่มีภาวะของการสูญเสียดวงตา ได้แก่
1) ผู้ป่วยตาฝ่อโดยกำเนิด
2) ผู้ป่วยตาฝ่อหลังลูกตาแตก
3) ผู้ป่วยภายหลังการผ่าตัดนำลูกตาออก
2. สำนักงานประกันสังคม จะจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้กับสถานพยาบาลที่ให้บริการแก่ผู้ประกันตนที่สูญเสียดวงตา ในอัตราต่อไปนี้
1) ค่าตรวจประเมินก่อนการเข้ารับบริการผ่าตัดใส่ลูกตาเทียมเฉพาะบุคคลเป็นค่าตรวจตาปลอม ค่าวัดระดับการมองเห็น ค่าเครื่องตรวจตา และค่าน้ำตาเทียม ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 500 บาทต่อครั้ง
2) ค่าบริการสำหรับการพิมพ์ตาปลอม ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 500 บาท
3) ค่าบริการในวันรับตาปลอม ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 600 บาท
4) ค่าอวัยวะเทียมหรืออุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรค จ่ายในอัตราที่กำหนดตามรายการและอัตราค่าอวัยวะเทียมหรืออุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรค โดยหากเป็นรายการประเภทตาปลอมชนิดทำเฉพาะบุคคล (Customized eye prosthesis) จ่ายในอัตราข้างละ 5,000 บาท ส่วนตาปลอมชนิดใส (Customized conformer) จ่ายในอัตราอันละ 1,500 บาท เป็นต้น
เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีโรงพยาบาล 9 แห่ง ที่ผู้ใช้สิทธิประกันสังคมสามารถทำการรักษากรณีสูญเสียดวงตา โดยการผ่าตัดใส่ลูกตาเทียมเฉพาะบุคคลได้ คือ โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ วัดไร่ขิง โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ คณะทันตแพทย์ศาสตร์ มหาลัยมหิดล คณะทันตแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ โทร. 02-956-2517 หรือ โทรสายด่วน 1506 ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง หรือสำนักงานประกันสังคมจังหวัด/พื้นที่/สาขา/จังหวัดทั่วประเทศ