xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลสืบสานประเพณีแห่เทียนพรรษา ยกระดับวัฒนธรรมไทยในรูปแบบ Festival

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ยกระดับวัฒนธรรมประเพณีไทยที่เป็นเอกลักษณ์สู่ระดับสากล ตามนโยบายการขับเคลื่อน Soft Power ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ชื่นชมการจัดงานสืบสานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ประจำปี 2567 (UBON Candle Festival 2024) อย่างยิ่งใหญ่ ในรูปแบบ Festival ภายใต้ชื่องาน "เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เมืองเทียน เมืองธรรม งามล้ำเมือง 4 แสง" ระหว่างวันที่ 17-23 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ บริเวณทุ่งศรีเมือง และถนนสายหลักรอบๆ ทุ่งศรีเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเข้าร่วมงานกว่าแสนคน คาดการณ์สร้างเม็ดเงินสะพัดกว่า 800 ล้านบาท ยกระดับการท่องเที่ยวเมืองหลัก กระจายสู่เมืองน่าเที่ยว ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกผ่านงานวัฒนธรรมประเพณีของไทย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า งานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี เป็นงานประจำปีที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น จัดต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา 123 ปี โดยในปีนี้จังหวัดอุบลราชธานี ได้ยกระดับการจัดงานให้เป็นรูปแบบ Festival ที่มีความเป็นสากลมากขึ้น และจัดให้ชมต้นเทียนพรรษาได้ตลอดเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2567 รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดอุบลราชธานี "เมือง 4 แสง" ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น และเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคมนี้ โดยมีการจัดขบวนแห่เทียน 2 วัน 2 คืน นำขบวนต้นเทียนพรรษา ด้วยเทียนพรรษาพระราชทาน และผ้าอาบน้ำฝนพระราชทาน พร้อมขบวนรำ และขบวนอื่นๆ รวมเกือบ 100 ขบวน มีจุดการแสดงถึง 5 จุด เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและประชาชนให้สามารถชมขบวนแห่ได้อย่างทั่วถึง และมีกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย อาทิ การเยือนชุมชน ชมวิถีทำเทียน การตกแต่งต้นเทียน ประเภทแกะสลัก ติดพิมพ์และแบบเทียนโบราณ จากคุ้มวัดต่างๆ ในเขตพื้นที่เทศบาลนครอุบลราชธานี กิจกรรมสืบศาสตร์ ยลศิลป์เยือนถิ่นเมืองเทียน เมืองธรรม การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน วัฒนธรรมพื้นถิ่น วิถีวัฒนธรรมส่งเสริมงานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี และการจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ OTOP

หอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี คาดการณ์ว่า งานดังกล่าวจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้าร่วมงานได้นับแสนคน และสร้างเม็ดเงินสะพัดกว่า 800 ล้านบาท

พร้อมกันนี้ ในจังหวัดอื่นๆ มีการจัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษา ประจำปี 2567 อย่างยิ่งใหญ่เช่นเดียวกัน อาทิ

จังหวัดนครราชสีมา จัดงานแห่เทียนพรรษา "แสงเทียน แห่งธรรม งามล้ำเมืองย่า 72 พรรษา มหาราชา" ณ ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี โดยมีขบวนแห่เทียนพรรษากว่า 22 ขบวน กิจกรรมการประกวดเทียนพรรษา การแสดงดนตรีวงโปงลางพื้นบ้าน กิจกรรมหล่อเทียนพรรษา และกิจกรรมสาธิตการแกะเทียนพรรษาและพิมพ์เทียน

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษาทางน้ำคลองลาดชะโด ครั้งที่ 13 ประจำปี 2567 "ชลมารคแห่งศรัทธา เทิดไท้องค์ราชาของแผ่นดิน" ณ บริเวณตลาดลาดชะโด อ.ผักไห่ โดยมีขบวนเรือแห่เทียนพรรษา กว่า 180 ลำ ล่องไปตามลำคลองลาดชะโดระยะทางกว่า 2 กิโลเมตร เพื่อนำเทียนไปถวายตามวัดต่างๆ ในชุมชน พร้อมการแสดงของเรือแต่ละลำสลับกัน ร้องรำทำเพลงตามวิถีของชาวลาดชะโด ที่สืบทอดกันมายาวนาน

จังหวัดราชบุรี จัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษาทางน้ำในคลองดำเนินสะดวก ไปวัดปราสาทสิทธิ์ ต.ประสาทสิทธิ์ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ในงาน "จัดเห่เรือ แห่เทียนพรรษา ทางชลมารค ล่องคลองดำเนินสะดวก" จัดกิจกรรมมากมาย ทั้งประกวดต้นเทียน การแสดงแสง สี เสียง ชมต้นเทียนพรรษา และขบวนแห่เทียนพรรษากว่า 100 ลำ

อนึ่ง ประเพณีแห่เทียนพรรษา เป็นกิจกรรมสำคัญในช่วงเทศกาลวันเข้าพรรษา ซึ่งเป็นหนึ่งในวันสำคัญทางพุทธศาสนา โดยพุทธศาสนิกชนนิยมหล่อเทียนพรรษาจากขี้ผึ้งตลอดทั้งเดือนก่อนจะถึงวันเข้าพรรษา เพื่อถวายเป็นเครื่องสักการะ เเละถวายพระภิกษุสงฆ์จุดให้แสงสว่างในการปฏิบัติกิจวัตรต่างๆ เป็นพุทธบูชาตลอดเวลา 3 เดือน ทั้งยังเป็นงานประเพณีที่รวมความผูกพันของชุมชนท้องถิ่น เริ่มตั้งแต่ชาวบ้านร่วมบริจาคเทียนเอามาหลอมหล่อเป็นเทียนเล่มใหญ่เล่มเดียวกัน เพื่อแสดงออกถึง ความร่วมมือ ความสามัคคีในหมู่คณะ ร่วมกับการสรรหาภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีฝีมือทางช่าง ด้านการแกะสลักลวดลายลงบนต้นเทียน

นายชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรีขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่ร่วมกันสืบสานงานบุญพระพุทธศาสนา และวัฒนธรรมประเพณีไทย พร้อมยกระดับการจัดงานประเพณีที่มีเอกลักษณ์ของไทยสู่ระดับสากล ในรูปแบบ Festival ซึ่งเป็น 1 ใน Soft Power ที่มีศักยภาพของไทย สามารถต่อยอดกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวไทยมากยิ่งขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยมีต้นทุนทางวัฒนธรรมและประเพณีที่มีความโดดเด่น และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติอยากเข้ามาสัมผัส ประกอบกับ การสนับสนุนประเพณี ส่งเสริมให้ไทยเป็นจุดหมายสำคัญด้านการท่องเที่ยวของรัฐบาล ซึ่งจะกระจายรายได้เม็ดเงินสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง