xs
xsm
sm
md
lg

ก.เกษตรฯ เดินหน้าแก้ปัญหา PM 2.5 ภาคการเกษตร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจาก ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ภาคการเกษตร ครั้งที่ 2/2567 โดยมีผู้บริหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบกรอบแนวทางในการกำหนดมาตรการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม ปี 2567/68 ประกอบด้วย 3 ประเด็น ประกอบด้วย การเฝ้าระวัง สร้างการรับรู้ และปราบปรามการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการให้ยกระดับมาตรการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน ฝุ่นละออง (PM 2.5) โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาตัดสิทธิการได้รับความช่วยเหลือชดเชยต่างๆ จากภาครัฐ หากตรวจพบว่ามีการเผาในพื้นที่การเกษตรกรรมของตนเอง โดยนำข้อมูลจากผลการลงพื้นที่ของชุดปฏิบัติการเพื่อเฝ้าระวังการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมนำมาจัดทำเป็นฐานข้อมูลรายชื่อเกษตรกรที่ทำการเผา

อีกทั้งการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ และป้องปรามการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม โดยมีชุดปฏิบัติการเพื่อเฝ้าระวังการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ ระงับยับยั้งเหตุการณ์ เพื่อป้องกัน บรรเทาการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ การส่งเสริมการเกษตรเพื่อแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมการดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรที่ปลอดการเผา โดยส่งเสริมการจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรแบบไม่เผา การส่งเสริมการไถกลบและผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สร้างแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ และปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควันและฝุ่น PM 2.5 ตลอดจนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำรายละเอียดแผนงาน/โครงการที่จะดำเนินการในปีงบประมาณ 2568 เพื่อนำมากำหนดเป็นแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม ปี 2567/68 ต่อไป

นอกจากนี้ นายอรรถกร ได้เน้นย้ำถึงการแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ภาคการเกษตร ว่า เป็นปัญหาที่สำคัญที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ในการยกระดับการเฝ้าระวังอย่างจริงจัง และเพิ่มความเข้มข้นในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหา โดยนำนวัตกรรมที่มีเข้ามาช่วยเพื่อให้เกิดความแม่นยำและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตลอดจนเร่งสร้างความตระหนักรู้ให้กับเกษตรกร เนื่องจากการเผาในพื้นที่เกษตรนั้นเป็นแหล่งที่มาของฝุ่นละออง ซึ่งส่งกระทบต่อสุขภาพของประชาชน สิ่งแวดล้อม และยังส่งผลเสียต่อพื้นที่ทำการเกษตรอีกด้วย