xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.จี้ รบ.เร่งผลักดันมาตรการคุ้มครองเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติหน้าที่ หลังสูญเสีย รอง ผกก.ป.สน.ท่าข้าม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย อดีตผู้สมัคร ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีตำรวจเข้าระงับเหตุชายคลั่ง จนเป็นเหตุให้ พ.ต.ท. กิตติ์ชนม์ จันยะรมณ์ รอง ผกก.ป.สน.ท่าข้าม ซึ่งพยายามเข้าไปเจรจา ถูกยิงสวนด้วยอาวุธปืนจนเสียชีวิต ว่า ตนขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของ พ.ต.ท. กิตติชนณ์ จันยะรมณ์ ผู้เสียชีวิต และรู้สึกเสียดายอย่างยิ่งที่ประเทศไทยต้องสูญเสียบุคลากรที่มีคุณค่า ซึ่งหากเหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกาหรือยุโรป คนร้ายต้องถูกยิงก่อนทันทีหากมีอาวุธปืนอยู่ในมือ โดยไม่ต้องรอการเจรจาใด ๆ ทั้งนี้เพื่อจำกัดวงของความเสียหายไม่ให้กระจายออกไป และยุติเหตุการณ์ให้จบลงโดยเร็วที่สุด เพื่อลดโอกาสที่คนร้ายจะก่อความเสียหายเพิ่มขึ้น

โดยหลักของไทยนั้นเจ้าพนักงานสามารถใช้อาวุธปืนได้ แต่ใช้ในลักษณะของการป้องกันตัว เช่นเดียวกับของพลเรือน กล่าวคือต้องรอให้มีภยันตรายอันใกล้จะถึงตัวเสียก่อน ถึงจะสามารถตอบโต้ด้วยการใช้กำลังในระดับเดียวกันได้ แต่จริงๆ แล้วเป้าประสงค์ของการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานนั้นแตกต่างกับการป้องกันตัวของบุคคลธรรมดา เพราะเจ้าพนักงานมีหน้าที่ต้องระงับเหตุโดยเร็วที่สุด จำกัดวงของความเสียหายไม่ให้กระจายออกไป และยุติความเป็นไปได้ใดๆ ที่ผู้ก่อเหตุจะสร้างความเสียหายเพิ่มมากขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สินรอบข้าง

ดังนั้นในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นต้นแบบของการปฏิบัติตามสิทธิมนุษยชนในระบอบประชาธิปไตย ในหลาย ๆ เรื่อง จึงมีหลักปฏิบัติของการใช้กำลังถึงตาย (Use of Deadly Force) ซึ่งอนุญาตให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้กำลังที่ทำให้ผู้ก่อเหตุถึงแก่ชีวิตได้ หากมีเหตุปรากฎว่า 1. มีเหตุ 'อันควรเชื่อได้ว่า' ผู้ต้องสงสัยแสดงการคุกคามในทันทีทันใดว่าจะทำอันตรายอย่างร้ายแรงต่อเนื้อตัวร่างกาย 2. เมื่อผู้ต้องสงสัยว่าก่ออาชญากรรมนั้น มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนบาดเจ็บอย่างร้ายแรง และกำลังจะหลบหนี

จะเห็นได้ว่าแม้สหรัฐอเมริกาจะเป็นแม่แบบของสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ก็มีหลักที่เอื้อต่อการปฏิบัติหน้าที่อย่างเฉียบขาดของเจ้าพนักงาน ทั้งนี้ก็เพื่อคุ้มครองชีวิตของเจ้าหน้าที่และผู้บริสุทธิ์ที่อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุเป็นสำคัญ ส่วนข้อกังวลในเรื่องการใช้อำนาจโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่นั้น ปัจจุบันเรามีเทคโนโลยี เช่น กล้องประจำตัว โดรน หรือ GPS ซึ่งใช้ตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่อยู่แล้ว ประกอบกับการอบรม ฝึกทบทวนเป็นประจำ ไม่ควรนำข้อกังวลตรงนี้มาลดทอนความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน

ผมจึงอยากฝากให้รัฐบาลนำไปพิจารณาทบทวนเพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ และผู้บริสุทธิ์ทุกคน ด้วยความปรารถนาดี