เพจ กสทช.โพสต์ระบุว่า ในยุคดิจิทัล #มิจฉาชีพมีรูปแบบกลโกงหลากหลายหวังล่อลวงผู้คนให้สูญเสียทรัพย์สินและข้อมูลส่วนตัว
โพสต์นี้ขอเตือนภัย 3 รูปแบบมิจฉาชีพที่พบบ่อย พร้อมวิธีป้องกันตัว
1.แก๊งคอลเซ็นเตอร์ (แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน) มิจฉาชีพใช้วิธีการใด?
• ติดต่อผ่านทางโทรศัพท์ อ้างเป็นเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน แจ้งว่ามีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยที่เราไม่ทราบเรื่อง
• สร้างความตื่นกลัว บอกให้รีบโอนเงินเพื่อแก้ไข
• หลอกให้เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว เช่น เลขบัตรประชาชน รหัส OTP บัญชีธนาคาร
วิธีป้องกัน
• วางสายทันที และโทรกลับไปยังกรมที่ดินโดยตรงเพื่อยืนยันข้อมูล
• กรมที่ดินไม่มีนโยบายติดต่อประชาชนผ่านทางโทรศัพท์เพื่อขอข้อมูลส่วนตัวหรือให้โอนเงิน
• ตรวจสอบข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนดำเนินการใด ๆ
• ไม่หลงเชื่อบุคคลแปลกหน้าที่ติดต่อมาทางโทรศัพท์
2.ลิงก์ข้อความหลอกลวง มิจฉาชีพใช้วิธีการใด?
• ส่ง SMS หรือข้อความผ่านแอปพลิเคชัน เช่น ไลน์ แชท หลอกให้คลิกลิงก์
• ลิงก์มักนำไปยังเว็บไซต์ปลอมที่เลียนแบบเว็บไซต์จริง เช่น ธนาคาร ร้านค้าออนไลน์
• หลอกให้กรอกข้อมูลส่วนตัว หรือข้อมูลบัตรเครดิต
• เมื่อได้ข้อมูลแล้ว มิจฉาชีพจะนำไปใช้ทำธุรกรรมฉ้อโกง
วิธีป้องกัน
• ไม่คลิกลิงก์ที่มาจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ
• ตรวจสอบ URL เว็บไซต์ก่อนคลิก ให้แน่ใจว่าตรงกับเว็บไซต์จริง
• ไม่กรอกข้อมูลส่วนตัว หรือข้อมูลบัตรเครดิตบนเว็บไซต์ที่ไม่น่าเชื่อถือ
• ติดตั้งโปรแกรมป้องกันมัลแวร์บนโทรศัพท์มือถือ
3.มิ(ตร)ฉาชีพ หลอกยืมเงินผ่านบัญชีไลน์ มิจฉาชีพใช้วิธีการใด?
• แฮ็กบัญชีไลน์ของเพื่อนหรือคนรู้จัก
• เปลี่ยนรูปโปรไฟล์ และชื่อให้เหมือนเจ้าของบัญชีจริง
• ทักหาคุณผ่านไลน์ส่วนตัว อ้างว่าประสบปัญหาฉุกเฉิน ต้องการยืมเงิน
• มักอ้างเหตุผลที่น่าเห็นอกเห็นใจ เช่น รถชน ต้องการเงินไปรักษาพยาบาล
• เมื่อโอนเงินให้แล้ว จะตัดการติดต่อ
วิธีป้องกัน
• ยืนยันตัวตนของบุคคลที่ทักมาให้แน่ใจก่อนโอนเงิน
• โทรหาเพื่อนหรือคนรู้จักโดยตรงผ่านเบอร์โทรศัพท์ที่มั่นใจว่าถูกต้อง
• ไม่โอนเงินให้ใครผ่านไลน์ หรือช่องทางโซเชียลมีเดีย โดยไม่แน่ใจ
• แจ้งความหากตกเป็นเหยื่อ
จำไว้ว่า มิจฉาชีพมีกลโกงหลากหลายรูปแบบ หมั่นศึกษาข้อมูลข่าวสาร และตั้งสติก่อนทำธุรกรรมใด ๆ ร่วมด้วยช่วยกันปราบปรามมิจฉาชีพ แชร์โพสต์นี้ให้คนที่คุณรักปลอดภัย