xs
xsm
sm
md
lg

กรมธนารักษ์เปิดจำหน่ายเหรียญที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงเจริญชนมพรรษา 6 รอบ ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 กระทรวงการคลัง โดยกรมธนารักษ์จัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก เหรียญที่ระลึก และเหรียญเฉลิมพระเกียรติดังกล่าวขึ้น

ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่พระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ ด้วยน้ำพระราชหฤทัยอันเต็มเปี่ยมที่มีต่อพสกนิกรทุกหมู่เหล่า ทรงแก้ไขและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของพสกนิกรให้มีความร่มเย็นเป็นสุข เพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรและความอุดมสมบูรณ์แก่แผ่นดิน และเพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณให้แผ่ไพศาลทั้งภายในประเทศและนานาประเทศทั่วโลก สำหรับการจัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก เหรียญที่ระลึก และเหรียญเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ครั้งนี้ ประกอบด้วย

เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 5 ชนิด ได้แก่
– เหรียญทองคำขัดเงา ชนิดราคา 20,000 บาท จำหน่ายราคาเหรียญละ 50,000 บาท
– เหรียญเงินขัดเงาชนิดราคา 1,000 บาท จำหน่ายราคาเหรียญละ 3,000 บาท
– เหรียญโลหะสีขาว (ทองแดงผสมนิกเกิล) ชนิดราคา 50 บาท จ่ายแลกราคาเหรียญละ 50 บาท
– เหรียญโลหะสีขาวขัดเงา (ทองแดงผสมนิกเกิล) ชนิดราคา 20 บาท จำหน่ายราคาเหรียญละ 200 บาท
– เหรียญโลหะสีขาว (ทองแดงผสมนิกเกิล) ชนิดราคา 20 บาท จ่ายแลกราคาเหรียญละ 20 บาท

โดยเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกทั้ง 5 ชนิด มีลวดลายดังนี้ ด้านหน้า กลางเหรียญมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ผินพระพักตร์ทางเบื้องขวา ทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศจอมทัพ ฉลองพระองค์ครุยมหาจักรีบรมราชวงศ์ ทรงเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์และสายสร้อยจุลจอมเกล้า ภายในวงขอบเหรียญเบื้องล่างมีข้อความว่า "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว"

ด้านหลัง กลางเหรียญมีรูปตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เบื้องล่างมีข้อความบอกราคาว่า "๒๐๐๐๐ บาท" "๑๐๐๐ บาท" "๕๐ บาท" และ "๒๐ บาท" ตามลำดับ ภายในวงขอบเหรียญเบื้องบนมีข้อความว่า "พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗"

เบื้องล่างมีข้อความว่า "ประเทศไทย" โดยมีลายไทยประดิษฐ์คั่นระหว่างข้อความเบื้องบนกับเบื้องล่างทั้งสองข้าง

เหรียญที่ระลึก 3 ประเภท ได้แก่
– เหรียญทองคำ ราคาเหรียญละ 60,000 บาท

มีลวดลาย ดังนี้ ด้านหน้า กลางเหรียญมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศจอมทัพ ฉลองพระองค์ครุยมหาจักรีบรมราชวงศ์ ทรงเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์และสายสร้อยจุลจอมเกล้า ภายในวงขอบเหรียญเบื้องล่างมีข้อความว่า "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว"

ด้านหลัง กลางเหรียญมีรูปตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ภายในวงขอบเหรียญเบื้องล่างมีข้อความว่า "พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗"

– เหรียญเงินรมดำพ่นทรายพิเศษ ราคาเหรียญละ 10,000 บาท

มีลวดลาย ดังนี้ ด้านหน้า กลางเหรียญมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศจอมทัพ ฉลองพระองค์ครุยมหาจักรีบรมราชวงศ์ ทรงเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์และสายสร้อยจุลจอมเกล้า ด้านข้างพระบรมรูปทั้งสองข้างมีโต๊ะเคียงทอดเครื่องราชูปโภค โต๊ะเคียงด้านขวาทอดพานพระขันหมาก โต๊ะเคียงด้านซ้ายทอดพระมณฑปรัตนกรัณฑ์ เบื้องล่างด้านซ้ายทอดพระสุพรรณราช เบื้องหลังพระบรมรูปมีพระที่นั่งภัทรบิฐ ภายในวงขอบเหรียญเบื้องล่างมีข้อความว่า "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว"

ด้านหลัง กลางเหรียญมีรูปตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ภายในวงขอบเหรียญเบื้องบนมีข้อความว่า "พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ" เบื้องล่างมีข้อความว่า "๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๗"

– เหรียญทองแดงรมดำพ่นทรายพิเศษ ราคาเหรียญละ 3,000 บาท มีลวดลายเช่นเดียวกับลวดลายของเหรียญที่ระลึกชนิดเงินรมดำพ่นทรายพิเศษ

– เหรียญเฉลิมพระเกียรติ (เหรียญที่ระลึกประดับแพรแถบ) เหรียญเงิน ชนิดบุรุษและชนิดสตรี จำหน่ายราคาเหรียญละ 1,600 บาท

โดยมีลวดลาย ดังนี้

ด้านหน้า กลางเหรียญมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศจอมทัพ ฉลองพระองค์ครุยมหาจักรีบรมราชวงศ์ ทรงเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์และสายสร้อยจุลจอมเกล้า ภายในวงขอบเหรียญเบื้องล่างมีข้อความว่า "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว"

ด้านหลัง กลางเหรียญมีรูปตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ภายในวงขอบเหรียญเบื้องล่างมีข้อความว่า "พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗"

ขอบนอกเหรียญ ด้านหน้าเบื้องบนมี เลข ๑๐ ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ เบื้องหลังประดิษฐานพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร เบื้องล่างด้านขวามีเลข "๗" ด้านซ้ายมีเลข "๒" หมายถึง พระชนมพรรษา 72 พรรษา ด้านหลังขอบนอกเหรียญมีห่วงสำหรับบุรุษใช้ห้อยกับแพรแถบ กว้าง 32 มิลลิเมตร สำหรับสตรีใช้ห้อยกับแพรแถบดังกล่าว ผูกเป็นรูปแมลงปอ

ความหมายของแพรแถบ แพรแถบกว้าง 32 มิลลิเมตร พื้นของแพรแถบเป็นสีขาวนวล หมายถึง น้ำพระราชหฤทัยอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง ประกอบไปด้วยพระมหากรุณาธิคุณและพระเมตตาที่เปี่ยมล้นที่พระองค์มอบสู่ประชาชนของพระองค์ ทั้งสองข้างมีริ้วสีเหลืองข้างละ 2 ริ้ว สีเหลือง เป็นสีประจำวันพระบรมราชสมภพ และเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ และมีริ้วสีม่วงข้างละ 1 ริ้ว สีม่วง เป็นสีประจำวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ที่ทรงเคียงคู่บุญบารมีในพระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

นายจำเริญ โพธิยอด อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมธนารักษ์กำหนดเปิดจำหน่ายจ่ายแลก และรับจองเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก เหรียญที่ระลึก และเหรียญเฉลิมพระเกียรติ (เหรียญที่ระลึกประดับแพรแถบ) ณ สถานที่ดังต่อไปนี้

เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก เริ่มจำหน่าย จ่ายแลก วันที่ 24 กรกฎาคม 2567

– กรมธนารักษ์ ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพมหานคร โทร. 0 2278 5439, 0 2618 6340
– กองบริหารเงินตรา ถนนพหลโยธิน จังหวัดปทุมธานี โทร. 0 2565 7944
– พิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์ ถนนจักรพงษ์ กรุงเทพมหานคร โทร. 0 2282 0820
– สำนักงานธนารักษ์พื้นที่ 76 พื้นที่ทั่วประเทศ
– Online : www.treasury.go.th
เหรียญเฉลิมพระเกียรติ เริ่มจำหน่าย วันที่ 24 กรกฎาคม 2567
เหรียญที่ระลึก รับจอง วันที่ 24 กรกฎาคม 2567-30 สิงหาคม 2567
– กรมธนารักษ์ ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพมหานคร โทร 0-2278-5439, 0-2618-6340
– พิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์ ถนนจักรพงษ์ กรุงเทพมหานคร โทร 0-2282-0820
– พิพิธบางลำพู ถนนพระสุเมรุ กรุงเทพมหานคร โทร 0-2281-9812
– พิพิธตลาดน้อย ซอยภาณุรังษี เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร โทร 0-2233-7390
– พิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จังหวัดเชียงใหม่ โทร 0-5322-4237-8
– พิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จังหวัดขอนแก่น โทร 0-4330-6167
– พิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จังหวัดสงขลา โทร 0-7430-7071
-Online : www.treasury.go.th

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center กรมธนารักษ์ โทร. 0 2059 4999 หรือ www.treasury.go.th และ Facebook กรมธนารักษ์ : The Treasury Department

ทั้งนี้ รายได้จากการจำหน่ายเหรียญที่ระลึก หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว จะทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงใช้สอยตามพระราชอัธยาศัย