รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า อัพเดตความรู้ Long COVID
งานวิจัยล่าสุดจากทีม Al-Aly Z จากสหรัฐอเมริกา ลงในวารสารการแพทย์ The New England Journal of Medicine วันที่ 17 กรกฎาคม 2024
วิเคราะห์เปรียบเทียบอัตราการเกิดปัญหา Long COVID ตลอดช่วงการระบาดที่ผ่านมาตั้งแต่สายพันธุ์ดั้งเดิม เดลต้า และ Omicron โดยใช้ฐานข้อมูลประชากรกว่า 440,000 คน
สาระสำคัญที่ค้นพบคือ
อัตราการเกิดปัญหา Long COVID ในผู้ป่วยจากสายพันธุ์ดั้งเดิมนั้นอยู่ราว 10.4 ต่อ 100 คน และลดลงเหลือ 9.51 ต่อ 100 คนในช่วงเดลต้า และราว 7.76 ต่อ 100 คนในช่วง Omicron
หากได้รับวัคซีน จะพบว่าอัตราการเกิด Long COVID สมัยเดลต้าจะอยู่ที่ 5.3 ต่อ 100 คน และลดเหลือ 3.5 ต่อ 100 คนในช่วง Omicron
ทั้งนี้การลดลงของอัตราเกิด Long COVID นั้น พบว่า 30% มาจากการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ไวรัส แต่ผลส่วนใหญ่ 70% มาจากการได้รับวัคซีน
Long COVID นั้นเป็นอาการผิดปกติที่เกิดได้กับทุกระบบในร่างกาย และส่งผลบั่นทอนคุณภาพชีวิต เกิดทุพพลภาพในประชากรจำนวนมากทั่วโลก เนื่องจากมีคนที่ติดเชื้อกันจำนวนมาก ยิ่งติดบ่อยครั้ง ความเสี่ยงก็มากขึ้น
แม้ปัจจุบันอัตราเกิด Long COVID จะลดลงมา แต่เมื่อประเมินจากจำนวนติดเชื้อที่มีมาก ปัญหานี้ถือว่ามีความสำคัญมาก
การป้องกันตัวระหว่างใช้ชีวิตประจำวันอย่างสม่ำเสมอเป็นเรื่องที่ควรใส่ใจปฏิบัติ
อ้างอิง
Postacute Sequelae of SARS-CoV-2 Infection in the Pre-Delta, Delta, and Omicron Eras. NEJM. 17 June 2024.