นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รับมอบหนังสือร้องเรียนจาก นางสาวดวงพร บุญมี ผู้แทนเครือข่ายพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อมคูคลอง ซึ่งรวมตัวประชาชนและชุมชนริมคลองเปรมประชากรและคลองลาดพร้าว จำนวน 60 คน มาร้องเรียนที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า เขตพระนคร ขอให้ระงับโครงการตัดบ้านคืนคลองในชุมชนที่ถูกสร้างสิ่งขวางลำคลอง รวมถึงใช้มาตรการในการดำเนินการกับผู้ไม่เห็นด้วยกับโครงการฟื้นคลองแลนด์มาร์กใหม่ใจกลางกรุง
นายชัชชาติ ฃยืนยันว่า กทม.ไม่มีการอนุญาตให้มีการสร้างบ้านในคลองอย่างแน่นอน การสร้างเขื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเป็นความจำเป็นที่ต้องดำเนินการ หากไม่สร้างเขื่อนก็ไม่มีอะไรดีขึ้น น้ำก็ยังท่วมเหมือนเดิม ส่วนคนที่รุกล้ำอยู่นอกแนวเขื่อน กทม.จะประสานกรมธนารักษ์ฟ้องดำเนินคดีต่อไป ทำให้ประชาชนที่มาร้องเรียนมีความพอใจเพราะไม่ต้องการให้มีการเหลื่อมล้ำว่ากลุ่มคนที่ให้ความร่วมมือยอมย้ายออกจากที่รุกล้ำต้องเป็นหนี้ค่าบ้าน ส่วนคนที่ให้ความร่วมมือรื้อย้ายเฉพาะในแนวเขื่อน ยังอยู่ที่เดิมได้
ทั้งนี้ สำนักการระบายน้ำ กทม. ได้ชี้แจงว่า ปัญหารุกล้ำแนวคลองสาธารณะเป็นปัญหาสำคัญที่ก่อให้เกิดผลกระทบหลายด้าน เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาคุณภาพชีวิต ปัญหาน้ำท่วม เพราะไม่สามารถปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในคูคลองได้ จากปัญหาดังกล่าวและมหาอุทกภัย พ.ศ.2554 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2555 เห็นชอบข้อเสนอการบริหารจัดการสิ่งรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ โดยให้กระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานครร่วมกันดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่บุกรุกลำน้ำสาธารณะ และให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์พิจารณาจัดหาที่พักอาศัยถาวรให้กับผู้บุกรุก ซึ่งในระยะเร่งด่วนได้มีการกำหนดคลองสำคัญที่มีปัญหาการรุกล้ำ จำนวน 9 คลอง ได้แก่ คลองบางซื่อ คลองบางเขน คลองลาดพร้าว(คลองสอง) คลองเปรมประชากร คลองพระยาราชมนตรี คลองสามวา คลองลาดบัวขาว คลองประเวศบุรีรมย์ และคลองพระโขนง โดยเริ่มดำเนินการที่คลองลาดพร้าว และคลองเปรมประชากรในระยะต่อมา