สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประเมินสภาพอากาศปีนี้ พบว่าประเทศไทยมีแนวโน้มเข้าสู่สภาวะลานีญา ส่งผลให้มีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจเกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ ทั้งนี้ พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างได้ชื่อว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศ เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เมื่อวานนี้ (10 ก.ค.67) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องฝึกซ้อมแผนการรับมืออุทกภัย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) กำชับให้ สทนช. ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลาง เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในปีนี้อย่างมีเอกภาพ
ทั้งนี้ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ซึ่งมีโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก มีโรงงานอุตสาหกรรมรวมกันมากกว่า 2,600 โรงงาน แบ่งเป็นโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม 5 แห่ง รวมจำนวน 595 โรงงาน และตั้งอยู่นอกเขตนิคมอุตสาหกรรมอีกกว่า 2,000 โรงงาน นอกจากนี้ ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ยังเป็นพื้นที่การเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ มีการเพาะปลูกพืชในเขตชลประทานกว่า 9.6 ล้านไร่ โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวมีมากกว่า 8 ล้านไร่ ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมจะส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก ช่วงวันที่ 16-17 กรกฎาคม 2567 ตามที่ได้มีการคาดการณ์ว่าอาจมีปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคตะวันออก จึงได้มอบหมายให้ สทนช. นำรูปแบบการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุไปเตรียมการตั้งศูนย์ส่วนหน้าเพื่อรับมือสถานการณ์ ที่จังหวัดระยอง หรือพื้นที่ใกล้เคียง