xs
xsm
sm
md
lg

"อ.เจษฎา"วิเคราะห์ดราม่าเฉือนพื้นที่ป่าทับลาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากกรณีที่เกิดความเห็นต่างเกี่ยวกับกรณี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โพสต์เปิดรับฟังความเห็นในการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ฝั่ง จ.นครราชสีมา และปราจีนบุรี โดยจะต้องเสียพื้นที่เดิมที่มีอยู่ไปกว่า 265,000 ไร่ ต่อมาได้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากในโลกออนไลน์ จนกลายเป็นกระแส #Saveทับลาน ติดเทรน X อันดับหนึ่งนั้น

ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant ระบุว่า เรื่อง การกำหนดเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน (2524 vs 2543) นี่มันค่อนข้างซับซ้อน และควรพิจารณาในรายละเอียด เป็นจุดๆ ไปนะ ผมว่า

คือเรื่องนี้ ก็ไม่ค่อยมีความรู้มากอะไร และก็กะจะลอยตัวเหนือดราม่า (ฮะๆ) แต่มีหลายคอมเมนต์อยากให้สรุปข้อมูลหน่อย ว่ามันยังไงก็แน่ .. เลยลองหามาตามนี้ครับ (แต่ไม่ได้บอกว่า เห็นด้วย/ไม่เห็นด้วย)

สรุปแบบคร่าวๆ ก่อน : คือมันมีแผนที่เดิม แนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ประกาศเมื่อ ปี พ.ศ. 2524 (รูปประกอบ บน - แนวเส้นสีแดง , รูปล่าง - แนวเส้นสีดำ) ทีนี้ ก็มีปัญหาเรื่องการใช้แผนที่นี้ ซึ่งทับซ้อนกันกับพื้นที่อาศัยเดิมของชาวบ้าน และกับพื้นที่ของหน่วยงานอื่นๆ ทำให้มีการศึกษาและกำหนดแนวเขตควบคุมอุทยานแห่งชาติทับลานใหม่ ในปี พ.ศ. 2543 (รูปบน - แนวเส้นน้ำเงิน , รูปล่าง พื้นที่สีฟ้า)

ประเด็นตามมาคือ ในขณะที่พื้นที่อุทยานทับลาน มีบางส่วนที่ "เพิ่มมากขึ้น" ตามแผนที่ใหม่ แต่ก็มีบางส่วนที่ "ลดลง" (ดูรายละเอียดในภาพ จะเห็นว่ามีหลายเคส หลายประเด็นมาก) ซึ่งภาษาทางการคือ "การเพิกถอนพื้นที่อุทยาน"

ซึ่งก็คงต้องไปถกเถียงกันต่อไปว่า แต่ละจุดๆ นั้นเหมาะสมแค่ไหน ? (แต่จะเห็นว่า การใช้คำว่า "เพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติ" นั้น ทำให้เกิดอารมณ์ดราม่า ที่เกินจริงมากไปหน่อยกับเรื่องนี้)

ข้อมูลพื้นฐาน ที่พอหามาได้
- ปี พ.ศ. 2506 มีมติคณะรัฐมนตรี กำหนดให้พื้นที่นี้ เป็นป่าไม้ถาวร สงวนไว้เพื่อการคุ้มครองพื้นที่ป่า โดยภาพถ่ายทางอากาศขณะนั้น แทบไม่พบการใช้ประโยชน์ในบริเวณนั้น ยกเว้นส่วนที่อยู่ในวังน้ำเขียว

- พื้นที่ดังกล่าวจึงเป็นพื้นที่ป่าสงวนมาก่อน และมีการจัดสรรให้กับผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย และชุมชนโดยรอบ ไปใช้ประโยชน์ทำกินด้วย จนกระทั่งปี พ.ศ. 2524 ที่มีการประกาศเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และเกิดปัญหาการทับซ้อนกับพื้นที่ชุมชน มายาวนานกว่า 40 ปี

- 14 มี.ค. 2566 มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เรื่องผลการดำเนินการปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐ และปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ (One map) มาตราส่วน 1 ต่อ 4,000 ที่ให้ดำเนินการใช้ เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขต ปี พ.ศ. 2543 พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดปราจีนบุรี

- 25 ม.ค. 2567 คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ประชุมรับทราบ การปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ตามมติ ครม. 14 มี.ค. 2566 โดยเสนอให้ใช้แนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎร ในเขตป่าอนุรักษ์ ตามมาตรา 64 พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562
- 28 มิ.ย . ถึง 12 ก.ค. 2567 กรมอุทยานแห่งชาติฯ เปิดรับฟังความคิดเห็น การเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จำนวน 265,286.58 ไร่ ออกจากการเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อนำไปเป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

- กลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ตามแผนที่ พ.ศ.2524 ทับซ้อนที่ดิน จนได้รับความเดือดร้อน ทำไร่หรือปลูกสร้างอะไรก็ยาก ทำมาหากินก็ลำบาก จึงอยากให้ยึดตามแนวเขตปี พ.ศ. 2543

- แต่ก็มีข้อมูลว่า ในเขตพื้นที่ทับลาน มีประชาชน 3 กลุ่ม ที่ทับซ้อนกันอยู่ในเขตพื้นที่ตรงนี้ คือ

1. ประชาชนที่อยู่มาก่อนการประกาศเขตอุทยานฯ เมื่อปี พ.ศ. 2524
2. ประชาชนที่ได้รับ ส.ป.ก. และอนุญาตให้ทำกินในพื้นที่ ส.ป.ก.
และ 3. กลุ่มที่เข้ามาหลังประกาศเขตอุทยานฯ และทำให้เกิดคดีความ กว่า 400 คดี ที่ทางกรมอุทยานฯ ได้ดำเนินการฟ้องร้องกับผู้ที่บุกรุกพื้นที่

- ส่วนฝ่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ได้แสดงความไม่เห็นด้วยที่จะให้ใช้ "เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขต ปี พ.ศ. 2543" เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนสภาพอุทยานฯ จากพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และไม่มั่นใจว่าราษฎรที่ได้รับประโยชน์นั้น จะสามารถควบคุมดูแลไม่ให้มีการซื้อขายเปลี่ยนมือที่ดิน ไปอยู่ในมือของนายทุนหรือไม่

- รวมทั้ง ตั้งข้อสงสัยว่า การทำเช่นนี้จะขัดต่อนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ที่กำหนดให้ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้เพื่อการอนุรักษ์และเพื่อเศรษฐกิจไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ ส่งผลต่อสถานภาพการเป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติของกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ส่งผลกระทบต่อแนวการเชื่อมต่อระบบนิเวศของสัตว์ป่า และเพิ่มความรุนแรงความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่ามากยิ่งขึ้น