xs
xsm
sm
md
lg

อธิบดีกรมอุทยานฯ แจงเฉือนที่"ทับลาน" 2.6 แสนไร่ หวังแก้ปัญหาที่ทำกิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวถึงกรณีการรับฟังความคิดเห็นประชาชนเพื่อดำเนินการแบ่งพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดนครราชสีมา-ปราจีนบุรี จำนวน 260,000 ไร่ ไปให้ ส.ป.ก. ดูแล ว่า ปัญหาพื้นที่พิพาทในเขตอุทยานแห่งชาติทับลานมีมานานกว่า 40 ปีแล้ว เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวก่อนเป็นอุทยานแห่งชาติได้เป็นป่าสงวนมาก่อน และได้มีการจัดพื้นที่ให้ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยได้เข้าไปทำกิน เนื้อที่ประมาณ 58,000 ไร่ แต่หลังจากนั้นได้มีการประกาศอุทยานแห่งชาติไปทับพื้นที่ในส่วนนี้ด้วย ซึ่งถือเป็นความบกพร่องของกรมป่าไม้ในอดีต จึงมีการเรียกร้องให้กันพื้นที่ออกจากอุทยาน และมีการสำรวจพื้นที่ใหม่อีกครั้งในปี 2543 แต่กระบวนการดังกล่าวไปไม่ถึงจุดหมาย ซึ่งหลายรัฐบาลที่ผ่านมาพยายามแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้าน และมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ สคทช. และมีมติให้กันพื้นที่ชุมชน จำนวน 265,000 ไร่ ให้เป็นพื้นที่ของ ส.ป.ก. และ ครม. ได้มีมติเห็นชอบในวันที่ 14 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา แต่บุคคลใดที่ถูกดำเนินคดีในพื้นที่ดังกล่าวจะไม่ได้รับการยกเว้น

จากมติดังกล่าวทำให้กรมอุทยานฯ ต้องมาดำเนินการปรับปรุงแนวเขต แต่จะทำได้ต้องรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั้งจากในพื้นที่และประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการและจะสิ้นสุดในวันที่ 12 กรกฎาคม ก่อนจะรวบรวมเสนอให้คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติพิจารณาภายใน 30 วัน เพื่อมีมติเสนอต่อ ครม. ต่อไป โดยสิ่งสำคัญจะต้องยึดหลักข้อเท็จจริง ทั้งเรื่องการอยู่อาศัยทำกินและการดูแลรักษาผืนป่า เนื่องจากในจำนวน 265,000 ไร่ มีทั้งคนที่อยู่อาศัยอยู่เดิม จากการจัดสรรพื้นที่และคนที่มาซื้อต่อเป็นมือที่สอง มือที่สาม รวมถึงกลุ่มรีสอร์ตที่ถูกดำเนินคดีกว่า 12,000 ไร่

ส่วนที่หลายคนมองว่ามติ ครม.เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 เป็นการเอื้อนายทุน อธิบดีกรมอุทยาน ชี้แจงว่า รัฐบาลที่ผ่านมาพยายามแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินให้กับชาวบ้าน จึงเห็นว่าควรทำให้เป็นที่ดินของรัฐ และ ส.ป.ก. ก็ถือเป็นที่ดินของรัฐ ดังนั้น ส.ป.ก.จึงต้องเข้ามาพิจารณาตรวจสอบว่าใครมีสิทธิ์ ในส่วนของกรมอุทยานเองก็จะต้องไปพิจารณาร่วมกันในชั้นของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติเพื่อเสนอต่อ ครม. ผมยังว่าบุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติตามกฎหมายก็ยังจะไม่มีคุณสมบัติถือครองที่ดินอยู่อย่างนั้น เพราะกังวลว่าหากมีการจัดสรรที่ไปแล้ว เกิดผลกระทบเพื่อให้กับนายทุนกลุ่มรีสอร์ทเข้าไปดำเนินการ

ส่วนประชาชนจะต้องได้รับการจัดสรรพื้นที่จำนวนเท่าไร และใครจะได้บ้าง นายอรรถพล ระบุว่า ต้องไปหารือในชั้นคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ เพราะคุณสมบัติแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนอยู่เดิมบางคนมาซื้อขาย เปลี่ยนมือบางคนเข้ามากว้านซื้อ จึงจำเป็นต้องพิจารณาถึงคุณสมบัติผู้ครอบครองที่ดินของรัฐ

เมื่อถามว่า มติ ครม. ให้ดำเนินการตามแผนที่ที่มีการรังวัดใหม่ในปี 2543 เสียงของประชาชนจะสามารถเปลี่ยนแปลงมติดังกล่าวได้หรือไม่ นายอรรถพล ระบุว่าเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณา และเป็นข้อเสนอของคณะกรรมการอุทยานฯ ซึ่งตอนนี้มีการรับฟังความเห็นทั้งชาวบ้านในพื้นที่ และในโลกออนไลน์ แต่ทุกอย่างต้องไปยุติที่คณะกรรมการอุทยานฯ เพื่อเสนอต่อ สคทช. หรือ ครม. หากมีมติให้ดำเนินการตามแผนที่ปี 2543 กรมอุทยานก็ต้องมาดำเนินการรังวัดเพื่อปรับแผนที่ท้ายกฎหมายใหม่