xs
xsm
sm
md
lg

นายกสมาคมทนายฯ เผยต้นเหตุความวุ่นวายเลือก ส.ว. ชี้ทางออกเดียวคือแก้ รธน.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ “บันทึกจากนายกสมาคมทนายความฯ” เกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ระบุว่า บันทึกจากนายกสมาคมทนายความฯ

ความวุ่นวายที่เกิดจากการเลือก สว. ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงคุณสมบัติ และวิธีการได้มา เกิดจากรัฐธรรมนูญที่ คสช. ต้องการให้ สว. ชุดแรกมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อให้หัวหน้า คสช. ได้สืบทอดอำนาจทางการเมืองต่อ แต่ทิ้งปัญหาไว้ให้คนรุ่นหลังต้องหาทางแก้ไขกันเอง

ประเด็นสำคัญลำดับแรกที่ต้องพิจารณาคือ การที่ประเทศไทยซึ่งเป็นรัฐเดี่ยวจำเป็นต้องมี สว. หรือไม่ ซึ่งหากคำตอบคือประเทศไทยคุ้นชินกับการมี สว. ถึงขนาดมีการก่อสร้างห้องประชุม สว. ไว้เป็นการถาวรแล้ว ก็จะต้องตอบคำถามต่อไปว่า “จะให้ สว. ทำหน้าที่อะไร” เพื่อนำมาสู่การกำหนดคุณสมบัติและวิธีการเข้าสู่ตำแหน่ง ให้เหมาะสมกับหน้าที่และอำนาจของ สว. ต่อไป

สำหรับคุณสมบัติและวิธีการได้มาซึ่ง สว. ชุดเลือกกันเอง มีความย้อนแย้งและไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญหลายประการ เช่น รัฐธรรมนูญมาตรา 114 บัญญัติให้ ส.ส. และ สว. เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย แต่ สว. กลับมาจากการเลือกกันเอง โดยประชาชนถูกกันออกไม่ให้มีส่วนร่วม รวมทั้งผู้ที่ได้รับเลือกได้คะแนนคนละหลักสิบ สูงสุดไม่ถึง 80 คะแนน แต่ให้เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยจึงย้อนแย้งและขาดการยอมรับจากประชาชน

ยิ่งไปกว่านั้น รัฐธรรมนูญยังให้ สว. ทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย โดยบัญญัติให้ส่งร่างพระราชบัญญัติที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติให้ความเห็นชอบ แล้วให้วุฒิสภาพิจารณาตามมาตรา 136 และให้อำนาจ สว. เข้าชื่อต่อประธานเพื่อส่งร่าง พรบ. และ พรก. ที่เห็นว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 148 และ 173

อีกทั้งการลงมติตั้ง สสร. เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องพึ่งเสียง สว. อย่างน้อย 1 ใน 3 ของสภาแต่การที่ สว. เลือกกันเองชุดนี้ไม่ได้มาจากฉันทามติของประชาชนทั่วประเทศ ดังนั้น สว. จะทำหน้าที่ให้ตรงตามเจตนารมย์และความต้องการที่แท้จริงของประชาชนได้อย่างไร จึงเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่เผด็จการทิ้งไว้ให้ ซึ่งทางออกทางเดียวของการแก้ปัญหาดังกล่าวคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น ฉะนั้นจากเหตุผลดังกล่าว สว.จะยอมให้แก้รัฐธรรมนูญหรือ

นรินท์พงศ์ จินาภักดิ์
นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย
5 กรกฎาคม 2567