นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่องข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตการดำเนินโครงการเช่ารถเก็บขนมูลฝอยของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ว่าอาจมีความไม่โปร่งใส ใน 4 โครงการ รวม 842 คัน มูลค่าโครงการ 3,993,761,464 บาท ว่า กรุงเทพมหานครให้ความร่วมมือ ป.ป.ช. อย่างต่อเนื่อง พร้อมย้ำเป็นโครงการที่สอดคล้องนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้หน่วยงานรัฐเปลี่ยนจากรถยนต์สันดาป (เครื่องยนต์ดีเซล) เป็นพลังงานไฟฟ้า เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ป.ป.ช. มีข้อแนะนำถึงกรุงเทพมหานคร 3 เรื่อง ทั้งการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขรายละเอียดรูปแบบและรายการ ซึ่งไม่กระทบต่อวัตถุประสงค์และวงเงินงบประมาณ ที่ไม่ระบุรายละเอียดในข้อบัญญัติ ปีงบ 66 ว่าเป็นรถไฟฟ้า กทม.จึงเตรียมเสนอออกข้อบัญญัติ ระบุว่าเป็นรถไฟฟ้าต่อสภา กทม. ในปีงบ 2568
ส่วนข้อกังวลในร่างการประกวดราคา (TOR) ที่จะไม่มีการเปิดกว้าง หรือเอื้อประโยชน์ต่อผู้รับเหมาเอกชนรายใดรายหนึ่งนั้น ยืนยันว่ามีการประกวดราคาแบบโปร่งใส ตรวจสอบได้ ส่วนเรื่องความพร้อมอุปกรณ์ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และสถานีชาร์จไฟฟ้าได้รับความร่วมมือจาก การไฟฟ้านครหลวง (MEA) ในการจัดตั้งสถานีชาร์จให้ โดยกรุงเทพมหานครไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
ขณะที่การซ่อมบำรุงรักษารถหรือหากเกิดรถเสียจะอยู่ในความรับผิดชอบของบริษัทที่ให้เช่ารถดูแลและนำรถมาเปลี่ยน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีหน่วยงานท้องถิ่นในต่างจังหวัดนำรถเก็บขยะพลังไฟฟ้ามาใช้บ้างแล้ว จากนี้อาจต้องศึกษาดูงานว่ามีปัญหาอะไรบ้าง เพื่อนำมาปรับใช้ในพื้นที่
นายชัชชาติ ยืนยันว่า กรุงเทพมหานครน้อมรับฟังทุกข้อเสนอ ข้อสังเกต เพื่อให้โครงการฯ รอบคอบ ปลอดทุจริต ขณะนี้โครงการยังไม่เริ่ม ส่วนในช่วงเวลาที่รถเก็บขยะลอตเดิมจะหมดสัญญา เบื้องต้นจะใช้งบกลางในการเช่าเพื่อให้มีรถเพียงพอบริการประชาชน เชื่อมั่นว่า เมื่อเปลี่ยนผ่านจากรถขยะแบบเครื่องยนต์ดีเซล เป็นไฟฟ้าแทนได้ จะสามารถลดงบรายจ่ายจัดการขยะได้ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 20 ต่อปี