นายสมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา ในฐานะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์เด็กออกกลางคัน หรือ เด็กหลุดจากระบบการศึกษา ในปีนี้เป็นไปอย่างหนักหน่วง จากข้อมูลกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่าในปี 2566 มีเด็กออกกลางคันประมาณ 1,025,514 คน ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาจะมีเด็กออกกลางคันปีละกว่า 5 แสนคน ถือว่าเพิ่มขึ้นอย่างเท่าตัว และส่วนใหญ่เด็กจะออกกลางคันในช่วงรอยต่อระหว่างมัธยมต้นไปสู่มัธยมปลาย
แต่ปัจจุบันพบว่ามีจำนวนเด็กที่ออกกลางคันในช่วงรอยต่ออื่นเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน เช่น จากระดับประถมศึกษาไปสู่ระดับมัธยมศึกษา หรือจากมัธยมศึกษาตอนต้นไปสู่สายอาชีพ ส่วนสาเหตุเด็กออกกลางคัน ไม่ได้มาจากเรื่องความยากจนเพียงอย่างเดียวเหมือนในอดีต เพราะการเมือง เศรษฐกิจ และการศึกษา มีความสัมพันธ์กัน โดยขณะนี้การเมืองหม่นหมองจนสร้างความไม่มั่นใจให้กับการทำงาน การลงทุน เศรษฐกิจถดถอย ซบเซา จนสังคมมีสภาพผุกร่อน ไปถึงเรื่องระบบการศึกษาที่มีปัญหา ทำให้เด็กออกกลางคันเพิ่มขึ้น ในอดีตเราอาจจะมองเพียงแค่เรื่องปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นหลัก เพราะเป็นเรื่องของความยากจน แต่ในตอนนี้เป็นเรื่องของ 3-4 ระบบที่กล่าวมาจนส่งผลให้ครอบครัวของเด็กตัดสินใจในการเอาลูกตัวเองออกจากระบบการศึกษา
นายสมพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้ทุ่มเทเอาใจใส่กับวิกฤตเด็กออกกลางคันให้ดีเท่าที่ควร ประกอบกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ทำให้เกิดปัญหาวิกฤตต่อเนื่องถึงปัจจุบัน
ส่วนเรื่องที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ต้องการจะปฎิวัติการศึกษานั้น นายสมพงษ์ มองว่า ต้องเริ่มจากการเร่งจัดทำร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ โดยเน้นหลักสูตรฐานสมรรถนะ และการนำระบบปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ มาใช้แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ การขาดแคลนครูในพื้นที่ห่างไกล เพราะเรื่องการศึกษา มีหลายมิติ ดังนั้นการแก้ปัญหาก็ต้องมองในภาพรวมหลายมิติด้วยเช่นกัน สิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการจะต้องทำให้ดีที่สุด คือ เปิดกระทรวงรับฟังข้อวิพากษ์วิจารณ์และแก้กฏระเบียบที่สกัดกั้นไม่ให้เอกชนกับท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการการศึกษา การศึกษาไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการเพียงลำพัง