xs
xsm
sm
md
lg

"เทพไท" ถาม ใครรับผิดชอบ? หาก "ชาญ" หยุดปฏิบัติหน้าที่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "เทพไท – คุยการเมือง" ตั้งข้อสงสัยว่า

ชาญ พวงเพ็ชร์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ ใครรับผิดชอบ?

ขอให้ดูกรณี ผู้ว่าฯอภิรักษ์ โกษะโยธิน เทียบเคียง กรณีที่นายชาญ พวงเพ็ชร์ ได้รับเลือกตั้งเป็น นายก อบจ.ปทุมธานี และอยู่ในระหว่างถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด และฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ศาลประทับรับฟ้องแล้ว ซึ่งจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง นายก อบจ.ปทุมธานี ที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งเข้ามา เมื่อ กกต.รับรองผลการเลือกตั้งแล้ว นายชาญ พวงเพ็ชร์ ก็จะดำรงตำแหน่ง นายก อบจ.ปทุมธานี แต่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ นายก อบจ. ได้ ซึ่งทำให้เกิดผลเสียหายต่อการบริหารงานของ อบจ.ปทุมธานี ซึ่งประชาชนจะได้รับผลกระทบในการหยุดปฏิบัติหน้าที่ในครั้งนี้ทั้งจังหวัดโดยตรง

เมื่อเกิดกรณีเช่นนี้ สังคมต้องตั้งคำถามว่า ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น ระหว่างนายชาญ พวงเพ็ชร์ กับพรรคเพื่อไทย ที่มีมติส่งลงสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรค และประเด็นดังกล่าว ทำไมไม่มีการนำข้อเท็จจริงมาชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งชาวจังหวัดปทุมธานีหรืออย่างไร โดยเฉพาะคู่แข่งอย่าง พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ไม่ได้ปราศรัยอธิบายว่า ถ้าเลือกนายชาญ พวงเพ็ชร์ เป็น นายก อบจ.ปทุมธานีแล้ว ผลที่เกิดขึ้นทางกฎหมายจะเป็นอย่างไร ทำไมมีการปกปิดความจริงกันทุกฝ่าย

การที่ชาวจังหวัดปทุมธานี เลือกนายชาญ พวงเพ็ชร์ เป็นนายก อบจ. ไม่ต่างอะไรกับการซื้อรถยนต์มาหนึ่งคัน แต่ถูกอายัดไว้ไม่สามารถใช้ขับขี่ได้ ซึ่งเป็นการเสียเงินเปล่า ไม่ได้ใช้งาน เช่นเดียวกันกรณีของนายชาญ พวงเพ็ชร์ เลือกเข้ามาแล้ว ไม่สามารถทำงานให้กับประชาชนได้

แม้ว่าจะมีแกนนำพรรคเพื่อไทย ออกมาปกป้องว่า ไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่อัตโนมัติ เหตุศาลยังไม่ได้สั่ง กกต. ไม่ได้ฟันขาดคุณสมบัติ ส่วนความเห็นของเลขาธิการคณะกฤษฎีกาไม่ใช่ต้องทำตามทุกเรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องแปลกประหลาดมาก ที่คนในรัฐบาลไม่ยอมฟังรับความเห็นและปฏิบัติตามคำแนะนำของที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาลเอง

ขอยกตัวอย่างกรณีนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. สมัยที่ 2 ในวันที่ 5 ตุลาคม 2551 เมื่อถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดคดีรถดับเพลิง โดยยังไม่ได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเลย นายอภิรักษ์ก็ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นผู้ว่าฯ กทม.ทันที ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2551 ซึ่งคดีนี้เกิดขึ้นในสมัยนายสมัคร สุนทรเวช เป็นผู้ว่า กทม. และเรื่องมาสำเร็จในสมัยนายอภิรักษ์เป็นผู้ว่าสมัยแรก ซึ่งสามารถเทียบเคียงกับกรณีของนายชาญ พวงเพ็ชร์ ได้ เพียงแต่มาตรฐานจิตสำนึกและความรับผิดชอบทางการเมืองของพรรคที่สังกัดแตกต่างกัน

ในทางการเมืองพรรคเพื่อไทยในฐานะต้นสังกัด และเป็นผู้อนุมัติส่งให้นายชาญ พวงเพ็ชร์ ลงสมัครรับเลือกตั้งในพรรค จะต้องแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองต่อชาวจังหวัดปทุมธานี