นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงแนวทางในส่วนของกระทรวงการคลัง ที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดทุนไทยว่า ขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) อยู่ระหว่างการพิจารณานโยบายการลงทุน ผ่านกลไกของกองทุนเดิมที่มีอยู่ คือ กองทุนวายุภักษ์ 1 หรือกองทุนวายุภักษ์ 2 ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยดึงเม็ดเงินลงทุนใหม่ๆ ให้เข้าสู่ตลาดทุนไทยได้เร็วกว่าการจัดตั้งกองทุนใหม่ขึ้นมา และเร็วกว่าการรอเม็ดเงินจากกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (ThaiESG) ที่แม้จะปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการลงทุนใหม่แล้วก็ตาม แต่ส่วนใหญ่กว่าจะมีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ตลาดทุนก็ต้องรอช่วงปลายปี เพราะนักลงทุนต่างต้องการใช้สิทธิสำหรับการลดหย่อนภาษี
ปลัดกระทรวงการคลัง คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 2 เดือนจึงสามารถดำเนินการได้ และเชื่อว่าจะทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ตลาดทุนได้มากกว่า 1 แสนล้านบาท
ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า วันนี้ตลาดทุนมีความจำเป็นต้องมีเงินใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาดทุน ถ้าจะรอ TESG คงต้องใช้เวลา ดังนั้นจะดีกว่าไหม ถ้าจะมีเม็ดเงินอีกก้อนหนึ่งเข้ามาสู่ตลาดทุน ผ่านกองทุนวายุภักษ์ เป็นสิ่งที่ สคร.กำลังดำเนินการอยู่ คาดว่าภายใน 2 เดือนน่าจะ implement ไม่ใช่แค่เสนอเรื่อง แต่น่าจะมีเม็ดเงินเข้าไปได้ คาดว่าจะมากกว่า 1 แสนล้านบาท” ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าว
พร้อมระบุว่า การจะใช้กลไกของกองทุนวายุภักษ์เดิม หรือกองทุนที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่นั้น ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะผลลัพธ์เหมือนกัน คือมีเม็ดเงินใหม่เข้าสู่ตลาดทุน แต่ประเด็นสำคัญ คือ ความรวดเร็วของเม็ดเงินที่จะไหลเข้าสู่ตลาดทุน ซึ่งเชื่อว่าในเร็ว ๆ นี้ความชัดเจนจะเริ่มทยอยออกมา
ล่าสุดที่คุยกัน คิดว่าใช้กองเดิม เพราะทำได้เร็วกว่า สิ่งที่รัฐบาลให้นโยบายคือ จะกองใหม่ กองเก่าไม่ใช่ประเด็น แต่อันไหนเร็วกว่า เอาอันนั้น สคร.มีการบ้านเยอะ ต้องไปดูนโยบายการลงทุน การการันตีผลตอบแทน ต้องดูที่นโยบายเป็นเรื่องที่มีความสำคัญสูง และมีความจำเป็นเร่งด่วน ดังนั้นเรื่องนี้จะไม่ช้า จะมีความชัดเจนออกมาเรื่อยๆ ต่อไปนี้ สิ่งที่จะชัดเจน คือ ขนาดกองทุนประมาณไหน ขายให้ใครบ้าง และจะออกมาเมื่อไร
ปลัดกระทรวงการคลัง ย้ำว่า การสร้างความเชื่อมั่นให้กลับมาในตลาดทุนไทยนั้น คงไม่ใช่แต่เรื่องของเม็ดเงินลงทุนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับตลาดทุนด้วย ซึ่งเชื่อว่าในมิตินี้ เป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.), ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ตลอดจนหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง