นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ ดาโช เชริง โตบเกย์ นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรภูฏาน เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ จำนวน 2 ฉบับ ดังนี้
1) บันทึกความเข้าใจเพื่อความร่วมมือทางวิชาการ การวิจัย และการแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กับมหาวิทยาลัยแพทย์ เคเซอร์ เกียลโป ของภูฏาน
2) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างไทย – ภูฏาน
หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีไทยและภูฏาน แถลงข่าวร่วมกันดังนี้
นายกรัฐมนตรีรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับนายกรัฐมนตรีภูฏาน ในโอกาสเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่งตรงกับโอกาสครบรอบ 35 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันที่มีความใกล้ชิดมาตั้งแต่ปี 2532 โดยมีพื้นฐานความสัมพันธ์ทั้งในระดับราชวงศ์ ความปรารถนาดีต่อกัน รวมถึงต่างมีวิสัยทัศน์ร่วมกันในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งการเยือนฯ ครั้งนี้ นับเป็นการเน้นย้ำความมุ่งมั่นของทั้งสองฝ่ายที่จะกระชับความร่วมมือในสาขาที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน และยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและภูฏานให้ใกล้ชิดมากที่สุด โดยได้หยิบยกประเด็นที่มีความสำคัญในระหว่างการหารืออย่างเป็นประโยชน์ร่วมกัน
ด้านการค้าไทยและภูฏานเห็นพ้องที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าทวิภาคีให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นผ่านการเจรจา FTA ให้เสร็จสิ้น เพื่อให้สามารถเข้าถึงตลาดระหว่างกัน พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน เพื่อเพิ่มปริมาณการค้าให้บรรลุเป้าหมาย 120 ล้านเหรียญสหรัฐ เร็วที่สุด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการค้าระหว่างกัน
ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือถึงโอกาสการลงทุน ในโครงการเมืองอัจฉริยะ เกเลฟู มายฟูลเนส ซิตี้ (Gelephu Mindfulness City :GMC) ซึ่งไทยมีความสนใจเข้าไปลงทุน เชื่อมั่นว่าจะเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจแห่งใหม่ของภูฏาน และโครงการดังกล่าวยังสอดคล้องกับค่านิยมร่วมของไทยและภูฏานที่ให้ความสำคัญกับอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและความยั่งยืน
สำหรับการลงนาม MOU ทั้งสองฉบับในด้านการท่องเที่ยวและด้านสาธารณสุขวันนี้ จะช่วยส่งเสริมภาคการท่องเที่ยว รวมถึงการแลกเปลี่ยนทางวิชาการและความร่วมมือด้านการศึกษาทางการแพทย์ ระหว่างกระทรวง สาธารณสุขของไทยและ Khesar Gyalpo (เคเซอร์ เกียลโป) และความร่วมมือของทั้งสองประเทศ ให้ใกล้ชิดมากขึ้น
ไทยและภูฏานยังแสดงความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันและใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยง เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้าและประชาชน นอกจากนี้ ประเทศไทยในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของภูฏาน จะสนับสนุนแบ่งปันความรู้ในด้านต่างๆ เช่น การดูแลสุขภาพ เกษตรกรรม และเทคโนโลยี พร้อมทั้งยินดีเรียนรู้จากแนวทางของภูฏาน ในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน และความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness) ซึ่งสอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของไทย
ด้านการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นวาระสำคัญของไทยและภูฏาน เนื่องจากทั้งสองประเทศมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว ต่างมีวัฒนธรรมอันยาวนาน และความงามทางธรรมชาติที่หลากหลาย พร้อมยินดีส่งเสริมโครงการ “2 ราชอาณาจักร 1 จุดหมายปลายทาง” (Two Kingdom’s One Destination) ซึ่งจะส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในทั้งสองประเทศ และเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทั้งสองฝ่ายเล็งเห็นถึงความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกลุ่ม Friends of Thailand-Bhutan เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
ด้านการศึกษาและวิชาการ ทั้งสองฝ่ายยืนยันที่จะอำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและบุคลลากรด้านวิชาการ เสริมสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน และสร้างมิตรภาพที่ยั่งยืนระหว่างเยาวชนคนรุ่นใหม่
ด้านพลังงานทดแทน ไทยและภูฏานพร้อมทำงานร่วมกัน แบ่งปันความเชี่ยวชาญและแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ เพื่อให้ทั้งสองประเทศบรรลุเป้าหมายเรื่องความมั่นคงด้านพลังงาน อาทิ พลังงานไฟฟ้าจากพลังน้ำ ซึ่งทั้งสองประเทศมีความเชี่ยวชาญ
ความร่วมมือระดับภูมิภาค ความสำคัญกับความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation: BIMSTEC) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการค้าและความเชื่อมโยง พร้อมเชิญนายกรัฐมนตรีภูฏานเข้าร่วมการประชุมผู้นำ BIMSTEC ในเดือนกันยายนปีนี้ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพด้วย
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรี ในนามของรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย ได้เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของไทยในการกระชับความร่วมมือกับภูฏานในทุกมิติ