นายสมชาย แสวงการ สว. กล่าวถึงการเลือก สว.ระดับประเทศ ว่า ตนไม่ให้ความสำคัญกับการเลือกดังกล่าว เนื่องจากมองว่ากระบวนการเลือกนั้นถูกบิดเบือน มีการเกณฑ์ ขนคน และจ้างวาน จึงถือว่าเป็นการเลือกที่โมฆะตั้งแต่เริ่มต้น อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ตนทำเรื่องไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้ตรวจสอบกระบวนการเลือกสว. ที่เป็นปัญหาใน 4 จังหวัด คือ บุรีรัมย์ ตรัง อำนาจเจริญ และ ศรีสะเกษ พร้อมกับเอกสารที่เป็นหลักฐาน 300 หน้า ส่วนกรณีที่พบว่าก่อนวันเลือกระดับประเทศ มีกระบวนการรวมกลุ่ม สว. ล็อบบี้ และว่าจ้างนั้น ตนได้รับข้อมูลว่ามีการต่อรองราคาไปถึงหลักล้านบาท
นายสมชาย กล่าวว่า สิ่งที่ กกต.ยังสามารถตรวจสอบในกรณีฮั้วเลือก สว. ได้ คือ ผู้สมัครที่ไม่ได้รับคะแนนใดๆ ในการเลือกระดับประเทศ หรือศูนย์คะแนน โดยสามารถตรวจสอบและกันไว้เป็นพยานได้ ทั้งนี้ ยืนยันว่าสิ่งที่ตรวจสอบนั้นไม่ต้องการเพื่อให้ได้อยู่ต่อ แต่ต้องการให้การได้มาซึ่ง สว.จากกลุ่มอาชีพ เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่มีสว. เชี่ยวชาญตามวิชาชีพ ไม่ตกอยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมือง
นายสมชาย กล่าวด้วยว่าสำหรับการประกาศผลของการเลือกสว. กกต.ควรตรวจสอบให้ชัดเจนก่อนที่จะรีบประกาศ โดยตนเชื่อว่า ผู้ที่ได้รับเลือกอาจมีผู้ที่ไม่ผ่านคุณสมบัติการเป็นสว. เพราะมีกรณีถือหุ้นสื่อหรือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ดังนั้น กกต. ควรใช้ความรอบคอบ ไม่ควรรับรองไปก่อนแล้วสอยทีหลัง เพราะ กกต. ไม่มีอำนาจ รวมไปถึงประสบการณ์การเลือกตั้ง สส. ที่ผ่านมา ที่พบว่ามีการขอให้ระงับการประกาศผลเลือกสส. 71 เขต แต่ กกต. ปล่อยไปก่อน แต่ไม่พบการสอยทีหลังแต่อย่างใด และมี สส. บางรายที่มีประเด็น กลับยังทำหน้าที่ในสภา