xs
xsm
sm
md
lg

นทท.พบ"เสือดำ-เสือดาว"เดินเล่นริมทางขึ้นพะเนินทุ่งอุทยานฯ แก่งกระจาน คาดประชากรเพิ่มขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




นายมงคล ไชยภักดี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เปิดเผยว่า ตามที่มีนักท่องเที่ยว ถ่ายภาพเสือดำจำนวน 2 ตัว ได้บริเวณ กม.20-22 ระหว่างทางไปพะเนินทุ่ง เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา

ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2567 ได้มีนักท่องเที่ยวสามารถถ่ายภาพเสือดำ จำนวน 1 ตัว บริเวณลานพักรถ กม.20 และช่วงเช้า-ช่วงเย็นวันเดียวกันมีนักท่องเที่ยวถ่ายภาพเสือดาวได้ตรงบริเวณ กม.13 ซึ่งเสือดำและเสือดาวดาวทั้งหมดเดินอยู่ริมทางไม่แสดงอาการตื่นตระหนกต่อรถยนต์ ก่อนจะเดินกลับเข้าป่า

นายมงคล กล่าวว่า บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานบ้านกร่าง มักจะมีเสือดาวและเสือดำ ออกมาเดินบนถนนบ่อยครั้ง และน่าจะมีจำนวนเยอะขึ้น คาดว่าในปีนี้อาจจะมีลูกเพิ่มขึ้น จึงทำให้นักท่องเที่ยวสามารถพบเห็นได้บ่อยขึ้น ทั้งนี้ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ร่วมกับสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทเหยื่องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF - ประเทศไทย) ประเทศไทยทำงานวิจัยเกี่ยวกับเสือโคร่ง และเหยื่อในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน การบันทึกภาพในครั้งนี้ ยังเป็นหลักฐานสำคัญในการวิจัยเกี่ยวกับเสือโคร่งและเหยื่อในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

สำหรับเสือดาว-เสือดำ จริงๆ แล้วเป็นสัตว์ชนิดเดียวกัน เพียงแต่มีสีขนที่แตกต่างกัน โดยเสือดาว มีขนสีน้ำตาลแกมเหลือง มีลายดอกสีดำทั่วตัว ส่วนเสือดำ เกิดจากความผิดปกติของเม็ดสีที่เรียกว่า เมลานิซึม ทำให้ขนมีสีดำสนิท แต่ยังคงมีลายดอกสีดำอยู่บ้าง ซึ่งจะเห็นชัดเมื่อต้องแสงแดด

เสือดาว-เสือดำ มีแนวโน้มว่าใกล้สูญพันธุ์ สถานภาพในธรรมชาติ IUCN ยังอยู่ในบัญชี 1 ในประเทศไทยจัดเป็น สัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ห้ามมิให้ผู้ใดล่า หรือมีไว้ในครอบครอง ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ปัจจุบันประชากรเสือดาว-เสือดำในประเทศไทยมีจำนวนลดน้อยลงอย่างรวดเร็ว คาดว่าเหลืออยู่ประมาณ 150 ตัว สาเหตุหลักมาจากการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย การล่าสัตว์ การอนุรักษ์เสือดาว- เสือดำ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพราะเสือดาว-เสือดำ เป็นสัตว์ป่าที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศในการช่วยรักษาสมดุลของธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ