xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.แนะรัฐดึงต่างด้าวกระตุ้น ศก.ผ่านอสังหาฯ กม.ต้องรัดกุม ไม่กระทบผู้ประกอบการไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐ โดยทบทวนหลักเกณฑ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการให้สิทธิคนต่างด้าวสามารถถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุด จากเดิมไม่เกิน 49 เปอร์เซ็นต์ของเนื้อที่ห้องชุดทั้งหมดของอาคารชุดแต่ละแห่ง เป็นไม่เกิน 75 เปอร์เซ็นต์ และทบทวนกำหนดระยะเวลาของทรัพย์อิง สิทธิตาม พ.ร.บ.ทรัพย์อิงสิทธิ พ.ศ. 2562 กำหนดให้ทรัพย์อิงสิทธิมีกำหนดเวลาได้ไม่เกิน 99 ปี ว่า ส่วนตัวมองเป็นเจตนาของภาครัฐ ที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านอสังหาริมทรัพย์ แต่ควรมีข้อคำนึงใน 5 ประเด็น เพื่อให้กฎหมายมีความรัดกุม โปร่งใส และไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของผู้ประกอบการไทย ดังนี้

1. ภาครัฐต้องมีการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวด โปร่งใส เพื่อควบคุมไม่ให้คอนโดฯ ที่ควรจะเพื่ออยู่อาศัยระยะยาว  ไม่ให้มีการค้าแบบรายวัน แข่งกับโรงแรม ไม่ใช่ว่าช่วยกันซื้อแล้วมาปล่อยเช่ารายวัน ซึ่งผิดกฎหมาย เหมือนคอนโดฯ หลายแห่ง ที่ทำกันในปัจจุบัน เนื่องจากโรงแรมมีขั้นตอนการขออนุญาต​ยากกว่า ค่าไฟฟ้าแพงกว่าคอนโดฯ เพราะคอนโดฯ แยกมิเตอร์แต่ละห้อง ขณะที่โรงแรมเป็นมิเตอร์รวม เป็นการคิดค่าไฟฟ้าอัตราก้าวหน้า จึงแพงกว่า

2 ขณะนี้คอนโดฯ ที่ให้คนไทยถือหุ้นไม่เกิน 49 เปอร์เซ็นต์ ก็มีต่างชาติถือหุ้นมากกว่าคนไทย ในคอนโดฯ หลายแห่ง โดยผ่าน การเป็นนอมินี เรื่องนี้อยากให้พิจารณาด้วยเช่นกัน

ข้อ 3 ต้องคำนึงถึงทัวร์ต่างชาติที่มาใช้บริการจากคอนโดฯ ที่ม มีเจ้าของเป็นชาติเดียวกัน สุดท้ายโรงแรมในไทยก็ไม่ได้ประโยชน์จากค่าที่พักของทัวร์ต่างชาติเหล่านี้ เพราะไปใช้บริการพักในคอนโดฯ ของคนชาติเดียวกัน

ข้อ 4 การกำหนดสิทธิ ในการโหวตยังไง 49% ก็ชนะ รายย่อยที่ถือได้เต็มที่ 25% เพราะอีก 26% ของต่างชาติ ต่อให้งดออกเสียงก็ไม่มีความหมาย ควรต้องหาทางด้อยสิทธิ ในการโหวตของต่างชาติ ให้รัดกุม

ข้อสุดท้ายข้อ 5 ห้ามขายที่ดินให้ต่างชาติโดยเด็ดขาดด้วยทุน และอำนาจซื้อที่มากมายเหนือคนไทย