นายพิทักษ์ อินทศร ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่าสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) เปิดเผยว่า กรณีได้รับแจ้งว่าพบช้างป่าที่ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 3 ตัว คือ "พลายกาหลง" "พลายหงส์ทอง" และ "พลายแสบ" โดยพลายกาหลง อาการบาดเจ็บบริเวณขาหน้าขวา พลายหงส์ทอง มีบาดแผลบริเวณลำตัวและงวง ส่วนพลายกาหลงมี มีบาดแผลตามผิวหนังหลายจุด บวมและมีหนอง และ พลายแสบ อาการขาหลังซ้ายบาดเจ็บ เดินกะเผลก
เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา นางสาวมัชฌมณ แก้วพฤหัสชัย หัวหน้าศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) พร้อมเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกคลองแก้ว ชุดเคลื่อนที่เร็วชุดที่ 15 จิตอาสาเฝ้าระวังช้างและเจ้าหน้าที่อุทยานฯ คลองเครือหวาย เดินทางเข้าพื้นที่ป่าที่ ม.5 ต.หนองบอน อ.บ่อไร่ จ.ตราด เพื่อรักษาอาการบาดเจ็บของช้างป่า ดังนี้
ช้างป่า ชื่อ “พลายกาหลง” เพศผู้ อายุประมาณ 10 ปี น้ำหนักประมาณ 3 ตัน ในพื้นที่ตำบลหนองบอน อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด ช้างป่าตัวดังกล่าวเดินกะเผลก มีอาการบาดเจ็บบริเวณขาหน้าขวา จึงทำการวางยาซึมเพื่อรักษา โดยขาหน้าขวาบวมบริเวณข้อเท้า มีแผลเนื้อตายเป็นโพรงเข้าไป เนื้อบริเวณเท้าหายไปบางส่วน และมีเนื้อตาย จึงทำความสะอาดบริเวณแผล ล้างแผลด้วยน้ำเกลือล้างแผล ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ เบตาดีน ตัดเนื้อตายออกบางส่วน ใส่ยาแบคตาซิน และผงกันหนอน และฉีดยารักษาการติดเชื้อ ยาลดปวดลดอักเสบ ยาบำรุงกล้ามเนื้อ ยาบำรุงเลือด ยาป้องกันหนอนและแมลง ฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก และเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อตรวจสุขภาพ และตรวจโรคที่สำคัญในช้าง และเก็บตัวอย่างหนองเพื่อนำไปเพาะเชื้อแบคทีเรียและทำการทดสอบความไวรับต่อยาปฏิชีวนะ หลังจากทำการรักษาเสร็จสิ้นได้ให้ยาฟื้นจากยาซึม ช้างป่าสามารถฟื้นจากยาซึมได้ดี
ช้างป่าชื่อ “พลายหงส์ทอง” เพศผู้ อายุ 4 ปี น้ำหนักประมาณ 2 ตัน ในพื้นที่ตำบลหนองบอน อำเภอบ่อไร จังหวัดตราด จากที่ได้รับแจ้งว่าได้รับบาดเจ็บมีบาดแผลตามผิวหนังหลายจุด บวมและมีหนอง ได้ทำการให้ยากินใส่ผลไม้ (ยารักษาการติดเชื้อ และยาลดปวด) โดยได้เข้าไปรักษามาแล้วไปเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2567 และได้ให้ยากินต่อเนื่อง ปัจจุบันพบว่าแผลแห้งบางตำแหน่ง บางตำแหน่งยังมีหนองอยู่เล็กน้อยจึงทำการล้างแผลและใส่ยาแบคตาซินที่แผล อาการโดยทั่วไปปกติ
ช้างป่า ชื่อ “พลายแสบ” เพศผู้ อายุ 3 ปี น้ำหนักประมาณ 1.6 ตัน อาศัยในพื้นที่ตำบลสะตอ อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด สัตวแพทย์ได้เข้าติดตามอาการและยิงวัคซีนป้องกันบาดทะยัก (เข็มกระตุ้น ห่างจากเข็มแรก 1 เดือน) หลังจากเคยเข้าทำการรักษาอาการขาหลังซ้ายบาดเจ็บ เดินกะเผลกเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา พบว่าอาการบาดเจ็บดีขึ้นมาก สามารถลงน้ำหนักได้ตามปกติ ทั้งนี้ ได้ประสานให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกคลองแก้วติดตามดูอาการของช้างทั้ง 3 อย่างใกล้ชิดต่อไป