xs
xsm
sm
md
lg

กษ.มุ่งมั่นดูแลเกษตรกรทั่วประเทศอย่างครบวงจร ตั้งเป้าเกษตรกรมีรายได้เพิ่มเป็น 3 เท่า ภายในปี 2570

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 จำนวน 125,882 ล้านบาท สำหรับดูแลพี่น้องเกษตรกรจำนวน 30 ล้านคน อย่างครบวงจร โดยคิดเป็นเงินสำหรับดูแลเกษตรกรประมาณ 3,386 บาท/ปี/คน และหากมองย้อนกลับสภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ถือว่าเงินจำนวนนี้ไม่เพียงพอ เพราะน้อยมาก ด้วยข้อจำกัดการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน ต้องยอมรับความจริงว่างบประมาณไม่สอดคล้องกับภารกิจงาน โดยเฉพาะการบริหารจัดการด้านน้ำและที่ดิน ดังนั้นต้องวางแผนให้แหมาะสม เน้นการทำเกษตรยุคใหม่ จำแนกเกษตรกรเป็นกลุ่มๆ คือ กลุ่มที่มีความเข้มแข็ง รัฐบาลจะส่งเสริมให้สามารถช่วยเหลือตัวเองในการสร้างสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและส่งออกได้ โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาภาครัฐ เพียงแต่รัฐบาลจะคอยช่วยอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ เช่น เทคโนโลยี หรือการส่งออก ส่วนเกษตรกรในกลุ่มที่มีความเข้มแข็งปานกลาง ต้องใช้นโยบายตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ ควบคู่กับการสนับสนุนการแปรรูปผลิตภัณฑ์การเกษตรและการหาตลาดใหม่ๆมารองรับ และนำงานวิจัยต่างๆมาปรับใช้ประโยชน์ ขณะที่กลุ่มที่มีปัญหาขาดความเข้มแข็ง รัฐบาลต้องดูแลเป็นพิเศษ ช่วยหามาตรการฟื้นฟูให้สามารถทำการเกษตรได้อย่างยั่งยืน และยกระดับให้เป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็งในอนาคต

ทั้งนี้ ไทยเร่งเปิดตลาดส่งออกโคและกระบือไปยังประเทศต่างๆ เช่น จีน ซาอุดีอาระเบีย เวียดนาม มาเลเซีย สปป.ลาว และกัมพูชา โดยในส่วนของประเทศจีนนั้น ถือเป็นตลาดใหม่ จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเจรจาและชี้แจงถึงมาตราการป้องกันโรคระบาดต่างๆ เช่น ลัมปีสกิน ปากเปื่อยเท้าเปื่อย และการปราศจากสารเร่งเนื้อแดง ซึ่งขณะนี้คืบหน้ากว่าร้อยละ70 แล้ว จึงเชื่อว่าในอนาคตจะสามารถค้าขายได้ราคาดีขึ้น

ส่วนตลาดในประเทศซาอุดีอาระเบีย แจ้งมาแล้วว่าพร้อมรับการส่งออกโคและกระบือจากไทย แต่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนอย่างเข้มงวด ดังนั้นไม่เกิน 3 เดือนจากนี้ จะสามารถจัดส่งไปยังตะวันออกกลางได้อย่างแน่นอน

ขณะที่การของบประมาณเพื่อจัดซื้อวัคซีนประเภทเชื้อเป็น เพื่อป้องกันโรคระบาดจากต่างประเทศ ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก เนื่องจากการส่งออกสัตว์ต้องปลอดโรค 100 % ส่วนกรณีที่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมมีจำนวนลดลง เพราะเกษตรกรในกลุ่มที่ไม่แข็งแรงต้องยกเลิกการเลี้ยง เนื่องจากเมื่อโคนมติดเชื้อได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ ส่งออกไม่ได้ อีกทั้งต้นทุนการผลิตสูงมาก จึงต้องส่งเสริมให้สหกรณ์เลี้ยงโคนมมีความเข้มแข็ง ช่วยกันหาแนวทางลดต้นทุนการผลิตให้มากที่สุด

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวด้วยว่า ภายใต้งบประมาณที่มีจำกัดนี้ กระทรวงฯยืนยันจะเดินหน้าสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรต่อไป ด้วยแนวทางตลาดนำ นวัตกรรมเสริม การลดต้นทุนการผลิต และส่งเสริมการปลูกพืชสำหรับเลี้ยงสัตว์ ลดการปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่น้ำน้อย แล้วให้เปลี่ยนไปปลูกถั่วเหลืองแทน เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น เป็น 3 เท่า ภายในปี 2570 ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้