นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ ... (พ.ศ. …) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรหรือการปรับปรุงการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าชดเชยที่ลูกจ้างได้รับจากนายจ้างกรณีถูกเลิกจ้าง โดยได้กำหนดยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าชดเชยส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างจาก 300 วันสุดท้าย เป็น 400 วันสุดท้าย เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และขยับเพดานของค่าชดเชยที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จาก 300,000 บาท เป็น 600,000 บาท ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอต่อกระทรวงการคลัง และเป็นไปตามข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของลูกจ้างหลังถูกนายจ้างเลิกจ้างให้ได้รับเงินก้อนสุดท้ายเพื่อใช้ในการดำรงชีวิตเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตแรงงาน โดยมีผลให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป
นางโสภา เกียรตินิรชา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเด็นเกี่ยวกับการขอยกเว้นภาษีเงินก้อนสุดท้ายที่ลูกจ้างได้รับ หรือค่าชดเชยกรณีถูกเลิกจ้างนั้น กลุ่มผู้ใช้แรงงานได้ยื่นข้อเรียกร้องเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 ปี 2556 ปี 2557 ปี 2558 ปี 2559 ปี 2563 และปี 2564 ซึ่งกระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน มิได้นิ่งนอนใจต่อความเดือดร้อนของลูกจ้าง ได้แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยและการงดจ่ายภาษี กรณีได้รับเงินเนื่องจากออกจากงานเพื่อศึกษารายละเอียดและผลกระทบของการดำเนินการ ตลอดจนผลักดันให้เกิดผลสำเร็จ โดยคณะทำงานฯ เห็นว่า กฎกระทรวง ฉบับที่ 217 ได้บังคับใช้มาเป็นเวลานานประกอบกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ได้มีการแก้ไขอัตราการจ่ายค่าชดเชย จากจำนวน 5 อัตรา เป็นจำนวน 6 อัตรา จากลูกจ้างทำงานครบ 10 ปีขึ้นไป มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน มีสิทธิได้รับค่าชดเชย 300 วัน และลูกจ้างที่ทำงานครบ 20 ปีขึ้นไป มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายและอัตราค่าจ้างในปัจจุบัน จึงเห็นควรเสนอเพื่อขอให้มีการพิจารณาแก้ไขกฎกระทรวงฉบับที่ 217 รวมทั้งขอให้ครอบคลุมถึงกรณีการเกษียณอายุหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างด้วย
ทั้งนี้ หากนายจ้าง ลูกจ้าง มีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1506 กด 3 สายด่วน 1546 หรือช่องทางออนไลน์ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานทุกช่องทาง