xs
xsm
sm
md
lg

กทม.รณรงค์โรงเรียนปลอดบุหรี่-บุหรี่ไฟฟ้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรุงเทพมหานคร จัดกิจกรรมเนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลก 26 มิถุนายน ผนึกกำลังโรงเรียนมัธยมในสังกัด ประกาศเจตนารมณ์โรงเรียนปลอดบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า รณรงค์ให้ตระหนักถึงโทษ พิษภัย อันตราย ย้ำทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องสอดส่องป้องกันไม่ให้เยาชนหลงผิด

เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลกที่จะมาถึงในวันที่ 26 มิถุนายนนี้ กรุงเทพมหานคร ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมรณรงค์ต้านยาเสพติดประจำปี 2567 ที่อาคารไอราวัต พัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร

มีการจัดกิจกรรม ทั้งการจัดนิทรรศการ และการเสวนาให้เห็นพิษภัยของยาเสพติด โดยเฉพาะบุหรี่และบุหรีไฟฟ้า ที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในกลุ่มเด็กและเยาวชน และถือว่าเป็นประตูบานแรกสู่การใช้ยาเสพติดชนิดอื่น

ข้อมูลจากการเสวนาในวันนี้ ระบุว่า ผลสำรวจนักเรียน 13-15 ปี (มัธยมต้น) เคยสูบบุหรี่ไฟฟ้า 17% หรือคิดเป็น 1 ใน 5 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด

ขณะที่ปัจจุบันรูปแบบหน้าตาของบุหรี่ไฟฟ้าเปลี่ยนไป ทำให้เข้าใจผิดว่าไม่อันตราย นิโคตินส่งผลต่อสุขภาพ โดยเฉพาะหากเป็นเด็ก เยาวชน ยิ่งทำลายสมองและสุขภาพ โดยเฉพาะปอด ทำให้ภูมิคุ้มกันของปอดแย่ลง ทั้งยังทำลายถุงลมปอด การแลกเปลี่ยนก๊าซแย่ลง ส่งผลเหนื่อยง่ายขึ้น ระบบหัวใจทำให้เส้นเลือดหัวใจแข็ง เลือดไหลเวียนได้ไม่ดี เกิดโรคหัวใจวายตามมาได้

นอกจากนี้ ควันมือสองจากบุหรี่ไฟฟ้าที่คนใกล้ตัวสูบ จากงานวิจัยเผยว่าคนไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้าแต่อยู่ใกล้ชิดคนสูบ ตรวจสุขภาพพบว่าหลอดลมอักเสบเพิ่มขึ้น 3 เท่า แม้ไม่ได้สูบเอง ย้ำว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้ายิ่งสูบยิ่งติด ไม่ได้ช่วยให้เลิกบุหรี่มวนได้

ข้อมูลจากกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม ซึ่งสำรวจพฤติกรรมทางสุขภาพของเด็กและเยาวชนในความดูแล 39 แห่งทั่วประเทศ 300 คน พบอายุเฉลี่ย 17 ปี เคยสูบบุหรี่มวน 95.4% ในจำนวนนี้สูบทุกวัน 84.5% และเคยสูบบุหรี่ไฟฟ้า 79.3% ในจำนวนนี้สูบทุกวัน 30.5 % ซึ่งเป็นข้อมูลที่จะต้องเผยแพร่ให้เด็กและเยาวชน รวมทั้งผู้ปกครอง ให้ตระหนักถึงพิษภัยมากขึ้น โดยกิจกรรมในวันนี้ยังมีการประกาศเจตนารมณ์โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร เป็นโรงเรียนปลอดบุหรี่ไฟฟ้าและสิ่งเสพติด โดยมีตัวแทนนักเรียนในสังกัดกว่า 100 แห่ง เข้าร่วมกว่า 400 คน