นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี แถลงกรณีคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีปรากฏเป็นข่าวต่อสาธารณะเกี่ยวกับความขัดแย้งในเรื่องคดีของบุคลากรภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่มีนายฉัตรชัย พรหมเลิศ เป็นประธานตรวจสอบในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ว่า เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ที่ผ่านมา เกิดความขัดแย้งภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำให้ประชาชนเกิดความไม่มั่นใจหรือไม่แน่ใจและไม่พอใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าว นายกรัฐมนตรี จึงได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อประมวลเรื่องราวว่ามีความเป็นมาอย่างไรเพื่อจะได้แก้ไขต่อไปในอนาคต โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าวได้ตั้งอนุคณะกรรมการขึ้นมาหลายชุดและได้สอบพยานหลายคนกว่า 50 คน รวมถึงสอบสวนคู่กรณี ใช้เวลา 4 เดือน
ทั้งนี้ ความวุ่นวายของคดีดังกล่าวต้องยอมรับว่ามาจากบุคคลภายนอกที่เข้ามาเกี่ยวข้อง บงการตำรวจ และมีต้นเหตุมาจาก 3 เรื่องใหญ่ คือ ยาเสพติด พนันออนไลน์ และหนี้นอกระบบ ที่ทำให้เกิดความวุ่นวายเพราะเป็นต้นทางที่ต้องการเงินไปซื้อตำแหน่ง
นายวิษณุ กล่าวว่า สรุปผลการตรวจสอบ พบว่า
1. มีความขัดแย้งและความไม่เรียบร้อยเกิดขึ้นใน สตช. จริง และมีความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูง กลาง เล็ก ทุกระดับทุกฝ่าย มีการฟ้องร้องกันภายนอกและภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
2. เรื่องราวที่เกิดขึ้นเกี่ยวพันพร้อมกับบุคคลสองคน คือ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ รวมถึงทีมงานใต้บังคับบัญชาสองฝ่ายเกิดความขัดแย้งกันด้วย เช่น คดี 140 ล้านบาท หรือ "เป้รักผู้การเท่าไหร่" คดีกำนันนก คดีเว็บพนันออนไลน์มินนี่ และเว็บพนันออนไลน์บีเอ็นเค ยังมีคดีย่อยแยกไปอีก 10 คดี ที่กระจายไปตามสถานีตำรวจและอยู่ในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ทั้ง สน. และในส่วนกลาง
3. ต้องส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบ บางเรื่องส่งให้กับหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมตำรวจ อัยการ ศาล ว่าไปตามขั้นตอนปกติ
4. บางเรื่องเกี่ยวพันกับกระบวนการ นอกกระบวนการยุติธรรม เช่น ป.ป.ช.ที่รับไปดำเนินการแล้วโดยมีเจ้าของคดีรับดำเนินการแล้วทั้งสิ้น ไม่มีตกค้างอยู่ที่ สตช.
5. ให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กลับไปปฏิบัติราชการในหน้าที่เดิม เนื่องจากไม่มีอะไรสอบสวนแล้วส่วนคดีต่างๆ ให้ดำเนินการไปตามสายงาน ส่วนการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทางวินัยให้เป็นเรื่องของ สตช. โดยคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ไม่ได้ชี้ว่าใครถูกหรือผิด ส่วนจะกลับไปเมื่อใดขึ้นอยู่กับคำสั่งของนายกรัฐมนตรี
6. พบความยุ่งยากสับสนของการสอบสวน
นอกจากนั้น เรื่องความสับสนในอำนาจหน้าที่ ในการพิจารณาว่าจะเป็นของตำรวจ ป.ป.ช., ปปง., ป.ป.ท. หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โดยคณะกรรมการฯ ได้เสนอแนะให้กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจในเรื่องอำนาจหน้าที่ให้ชัดเจน ว่า หากเกิดกรณีเช่นนี้ขึ้นอีก จะอยู่ในอำนาจดำเนินการของใคร เพราะถ้าเรื่องไปถึงศาล ศาลก็อาจจะยกฟ้องได้ ดังนั้นควรจะดำเนินการเพื่อเป็นคู่มือให้ผู้เกี่ยวข้องได้เก็บไว้ว่าทุกหน่วยคิดเห็นตรงกัน มิฉะนั้นจะมีปัญหาเรื่องโยนกันไปมาว่าเป็นอำนาจตำรวจสอบสวน หรือ ป.ป.ช. เป็นคนสอบสวน ซึ่งเรื่องนี้เป็นบทเรียนที่จะต้องป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น
นายวิษณุ เปิดเผยด้วยว่า นายกรัฐมนตรีได้รับทราบและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป คือ คณะกรรมการกฤษฎีกา และกระทรวงยุติธรรม ที่มีคณะกรรมการประสานงานกระบวนการยุติธรรมที่จะไปตรวจสอบเรื่องของเขตอำนาจในกรณีที่เขตอำนาจศาลต่างกันจะมีกรรมการชี้ขาดอย่างไรในคดีปกครอง แต่ในคดีอาญาในชั้นสอบสวนไม่มีคนชี้ขาด ดังนั้นคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงต้องดำเนินการฟ้องและออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีส่งตัว พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กลับไปดำรงตำแหน่งเดิม และการดำเนินการอย่างอื่นเป็นเรื่องที่ สตช. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการ เช่น เรื่องการสอบวินัย หรือจะต้องสอบบุคคลอื่นเพิ่มเติม
ส่วนกรณีผลการสอบ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ มีคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ซึ่งเป็นแบบที่เคยสั่งมาในอดีตตามมาตรา 132 พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2505 แต่ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ 2565 ได้เพิ่มไว้หนึ่งมาตราว่าในกรณีที่การสั่งให้ตำรวจออกจากราชการไว้ก่อนและไปกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของบุคคลนั้น การสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนจะต้องทำโดยคำแนะนำหรือข้อเสนอแนะโดยคณะกรรมการสอบสวน แต่เรื่องนี้เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 ได้มีการออกคำสั่งซ้ำ คำสั่งติดต่อกัน คือคำสั่งเรียก พล.ต.อ.สุรเชษฐ กลับ สตช. และตามด้วยคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัย พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ และคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนทันที จึงเป็นปัญหาและได้ส่งเรื่องนี้ไปหารือกรรมคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนมีมติต่อ 10 ต่อ 0 เห็นเป็นเอกฉันท์ว่าการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน กระทบต่อสิทธิและหน้าที่ เช่น พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ จะต้องทำโดยคณะกรรมการสอบสวน แต่เรื่องนี้ไม่ได้ผ่านคณะกรรมการ ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าไม่ถูกต้องและชอบธรรม จึงเห็นควรให้แก้ไขให้ถูกต้อง จึงเป็นอำนาจของ สตช.จะดำเนินการ ดังนั้นสถานภาพของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ อยู่ระหว่างการนำความกราบบังคมทูลฯ ให้ออกจากราชการไว้ก่อน ซึ่งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ต้องตรวจสอบว่าทำถูกต้องตามระเบียบขั้นตอนกฎหมายหรือไม่ ในขณะเดียวกันเรื่องนี้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้นำเรื่องไปฟ้องคณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรมตำรวจ ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีขอให้ทั้งสองฝ่ายปรองดองในทางราชการ ส่วนตัวใครจะทำผิดให้ว่าไปตามกฎหมาย แต่ให้ทำงานเพื่อให้บังเกิดประโยชน์กับประชาชน ไม่ให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาและกระทบภาพลักษณ์ตำรวจ และเชื่อว่าสถานการณ์ต่อจากนี้จะเบาบางลง เพราะตลอดเวลา4เดือนทั้งสองฝ่ายได้พบปะพูดจาและกรรมการได้เข้าไปไกล่เกลี่ยในบางเรื่องแต่ไม่ใช่การซูเอี๋ย หรือเป็นมวยล้มต้มคนดู เพราะมีคดีปักหลังกันทุกคนแต่ให้ทำงานร่วมกันต่อจากนี้ไม่เช่นนั้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะไม่มีหัวมีแค่พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพชร รักษาราชการแทน ผบ.ตร. ที่ทำงานไม่ไหว จำเป็นต้องมีคนเข้าไปช่วย ตามนโยบายที่ต้องการแก้ไขใน3 ประเด็นที่รัฐบาลจะดำเนินการ คือ เรื่องยาเสพติดหวย พนันออนไลน์ และหนี้นอกระบบ ทั้งนี้รายงานผลตรวจสอบข้อเท็จจริง ไม่ผูกพันกับหน่วยงานใดแต่เป็นข้อมูลที่จะแจ้งและยินดีที่จะส่งข้อมูลไปให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ รวมทั้ง ป.ป.ช. ทั้งนี้รายงานสามารถใช้ในการต่อสู้คดีหรือการสั่งฟ้องคดี เพราะมีการสอบพยานจำนวนหลายหลายคน มีการบันทึกเก็บไว้จำนวนมาก โดยรายงานการตรวจสอบจะเก็บไว้ที่สำนักงานปลัดสำนักงานนายกรัฐมนตรี และให้หน่วยงานมาขอรับไปดูได้
เมื่อถามถึงกรณีที่ผลการสอบให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กลับ สตช. ถือเป็นการล้างมลทินให้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ใช่ล้างมลทิน คดีเดินหน้าตามปกติ โดยคดีที่อยู่ใน ป.ป.ช. ก็ยังต้องดำเนินการตรวจสอบดำเนินการต่อไป กรณีนี้จะต้องมีข้อยุติว่าใครถูกใครผิด และต้องดำเนินคดีเหมือนกับบุคคลธรรมดาทั่วไป ทั้งนี้การนำบุคคลทั้งสองออกมาจาก สตช.ก่อน เอาออกมาเพื่อตรวจสอบวินัยและคดีต่างๆ จนนำไปสู่การแก้ไขในอนาคต
เมื่อถามว่าการส่ง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กลับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะทำให้เกิดความสงบเรียบร้อย นายวิษณุ กล่าวว่า คงเรียบแต่ไม่ร้อย คงจะจบสงบไปได้และคงปรองดองในส่วนราชการ แต่จะมีอะไรกินใจ ปัญหาอ่อนลง แต่คงไม่หมดไป เนื่องจากความขัดแย้งมีมาตั้งแต่ปี 2557
เมื่อถามว่า รายงานผลการสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะเป็นการสะสางปัญหาใน สตช. และทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น นายวิษณุ กล่าวว่า อย่าใช้คำว่าสะสาง เพราะฟังดูอาจจะคิดว่าเจ๊ากัน แต่ไม่ใช่ เพราะจะต้องมีคนถูกและผิด และถูกดำเนินคดีเหมือนกับคนธรรมดาทั่วไป เรื่องนี้ไม่ใช่การฟอกขาว แต่ให้ทั้งคู่กลับไปทำหน้าที่ของตัวเองตามที่รับผิดชอบ อย่าวอกแวก ส่วนคดีใน ป.ป.ช.และหน่วยงานอื่นก็ต่อสู้คดีกันไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ยังมีโอกาสที่จะได้รับพิจารณาในการเป็น ผบ.ตร. หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า สถานะของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ อยู่ในระหว่างให้ออกจากราชการไว้ก่อน แต่ขั้นตอนยังไม่สมบูรณ์ เพราะกระบวนการยังไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ ใครที่เป็น รอง ผบ.ตร. ก็มีโอกาสถูกพิจารณาขึ้นเป็น ผบ.ตร. ได้ทั้งนั้น และในกฎหมายตำรวจได้เขียนไว้ว่าไม่ให้เอาสาเหตุนี้มากำหนดไม่ให้บุคคลได้รับการพิจารณาในการดำรงตำแหน่ง
ในกรณี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หากจะมีการพิจารณาเรื่องออกจากราชการ ทาง สตช. ก็ต้องไปทำให้ถูกต้อง เพราะในรายงานของคณะกรรมการ มีระบุเอาไว้ว่าบุคคลทั้งสองทำไม่ถูกต้องในเรื่องอะไรบ้าง ส่วนจะชี้ว่าใครถูกใครผิดก็ต้องไปที่หน่วยงานที่มีอำนาจพิจารณา ทั้งนี้ไม่ขอตอบว่าคำสั่งที่ให้ออกจากราชการไว้ก่อนเป็นการกลั่นแกล้งหรือไม่ ให้คนมีอำนาจชี้ขาด แต่มองว่าเป็นเรื่องปกติ เมื่อมีคำสั่งขอตัวกลับ แล้วตั้งกรรมการสอบ ยังไม่เคยเห็นหน้ากัน ก็ปลดปุ๊บ ทำแบบปุบปับ ทางคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะ 2 จึงบอกว่าให้ไปทำให้ถูกต้อง
เมื่อถามย้ำว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ยังมีโอกาสลุ้นตำแหน่ง ผบ.ตร. ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า "มี"
เมื่อถามถึงเอกสารคำสั่งนายกรัฐมนตรีให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กลับ สตช.ที่หลุดออกมาก่อน นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่รู้ว่าเอกสารหลุดได้อย่างไร แต่ทราบก่อน 1-2 วัน ว่าจะกลับ แต่ตัวคำสั่งยังไม่มีผล จนกว่านายกฯ จะลงนาม