xs
xsm
sm
md
lg

แถลงสอบปมขัดแย้ง 2 บิ๊ก ตร.พบขัดแย้งจริง ส่ง"ต่อศักดิ์"กลับตำแหน่งเดิม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี แถลงผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 119/2567 ลงวันที่ 20 มีนาคม 2567 โดยสอบทั้ง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

นายวิษณุ ได้รับมอบหมายให้มาชี้แจงผลการสอบสวนที่คณะกรรมการเสนอเรื่องให้นายกรัฐมนตรีทราบ และเห็นว่าควรชี้แจงต่อสาธารณะ โดยสรุปได้ความว่า เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567 ท่ามกลางข่าวการขัดแย้งรุนแรงในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานใหญ่ของกระบวนการยุติธรรมทำให้ประชาชนไม่มั่นใจ ไม่พอใจในสิ่งที่เกิดขึ้น นายกรัฐมนตรี จึงตั้งกรรมการสอบทั้งข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย เพื่อประมวลความเป็นมาและแก้ไข โดยกรรมการมี นายฉัตรชัย พรหมเลิศ เป็นประธาน ร่วมกรรมการอีก 2 คน

คณะกรรมการตั้งอนุกรรมการมาอีกหลายชุด สอบพยาน 50 กว่าคน ในจำนวนนี้ได้สอบสวนคู่กรณีทั้ง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ และพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ใช้เวลา 4 เดือน สรุปได้ดังนี้

1.ผลการตรวจสอบพบมีความขัดแย้ง และความไม่เรียบร้อยเกิดขึ้นจริง มีความขัดแย้งในทุกระดับตั้งแต่ระดับสูง กลาง เล็ก ทุกฝ่าย ไม่ว่าเป็นเหตุบังเอิญหรืออะไรก็แล้วแต่กลายเป็นคดีความเรื่องร้องเรียนในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

2.เรื่องราวที่เกิดขึ้นจะเกี่ยวพันกับบุคคล 2 คน คือ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ แต่ละคนมีทีมงานเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาทั้งสองฝ่ายก็มีความขัดแย้งกันไปด้วย คดีที่เกี่ยวพันกับบุคคลเหล่านี้ ก็คือคดี 140 ล้านบาท หรือคดีเป้รักผู้การฯ เท่าไหร่ คดีกำนันนก คดีเว็บพนันออนไลน์มินนี่ คดีเว็บพนันออนไลน์บีเอ็นเค มีคดีย่อยอีก 10 กว่าคดีตาม สน.ต่างๆ และศาลในคดีอาญาทุจริต ภาค 7 และส่วนกลาง ความขัดแย้งบางเรื่องเพิ่งเกิด บางเรื่อง 10 ปี มาแล้ว จนเกิดเป็นคดีเหล่านี้ขึ้นมา

3.เมื่อเป็นเช่นนี้ต้องส่งเรื่องให้หน่วยงานเกี่ยวข้องรับผิดชอบ บางเรื่องส่งให้หน่วยงานยุติธรรม ตำรวจ อัยการ ศาล

4.บางเรื่องเกี่ยวกับองค์กรอิสระ เช่น ป.ป.ช. ดีเอสไอ รับไปดำเนินการแล้ว คดีทั้งหมดมีเจ้าของรับดำเนินการแล้ว ไม่มีคดีตกค้างที่ ตร. แต่อาจมีตกค้างที่ สน.

5.พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เมื่อได้รับคำสั่งให้กลับรับราชการตั้งแต่ 18 เม.ย. 67 หลังจากคำสั่งช่วยราชการที่สำนักนายกฯ เมื่อ 20 มี.ค. 67 และในวันดังกล่าวมีคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ซึ่งคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน กระทบต่อสิทธิและหน้าที่เพราะถ้าออกจากราชการไว้ก่อน ทั้งเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง แสดงว่าเสียสิทธิประโยชน์ คำสั่งดังกล่าว ต้องทำตามคำเสนอแนะของคณะกรรมการสอบสวน จึงส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา มติ 10 ต่อ 0 เห็นว่า ไม่ถูกต้อง จึงขอให้ไปจัดการให้ถูกต้อง สถานภาพจึงอยู่ระหว่างการกราบบังคมทูลฯ ซึ่งสำนักเลขาธิการนายกฯก็ต้องตรวจสอบ ขณะเดียวกัน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ไปร้อง กพค. ก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องพิจารณา

ส่วน พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ยังไม่ได้กลับ จึงเห็นควรส่งกลับไปดำรงตำแหน่งเดิม เพราะไม่มีอะไรสอบสวนแล้ว ให้กลับไปดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร.ตามเดิม ส่วนจะกลับไปวันไหนขึ้นอยู่กับคำสั่ง เพราะตอนนี้มีงานใน สตช. จำนวนมาก เช่น ยาเสพติด และการพนัน พล.ต.อ.กิตติรัฐฐ พันธุ์เพชร รรท.ผบ.ตร.ทำงานคนเดียวไมไหว ส่วนเรื่องคดีว่าไปตามสายงาน เช่น ป.ป.ช. หรือ ศาล ส่วนจะตั้งกรรมการสอบวินัยหรือไม่เป็นเรื่องของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี อยากให้ทั้งสองฝ่ายปรองดองกันเพื่อช่วยกันทำงาน ส่วนการฟื้นภาพลักษณ์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องช่วยกันแก้ทั้งสำนักงาน ผ่านไป 4 เดือน ทั้งสองฝ่ายก็ได้พูดคุยกัน คณะกรรมการก็เข้าไปไกล่กลี่ย แต่ไม่ใช่มวยล้มต้มคนดู และไม่ใช่การซูเอี๋ย