xs
xsm
sm
md
lg

สกศ.เดินหน้าหาแนวทางเพิ่มขีดความสามารถการศึกษาไทยสู่ระดับนานาชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า ตามที่ สกศ. ได้รับมอบหมายจาก พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ให้เป็นหน่วยงานหลักในการศึกษา วิเคราะห์ ติดตาม และจัดทำข้อเสนอแนวทางในการเพิ่มขีดความสามารถด้านการศึกษาของประเทศไทยในระดับนานาชาติ และทำหน้าที่เป็นผู้ส่งข้อมูลทางการศึกษาให้กับสถาบันเพื่อพัฒนาการจัดการนานาชาติ International Institute for Management Development : (IMD) เพื่อใช้ในการคำนวณอันดับ แม้ในปีนี้อันดับด้านการศึกษาของประเทศไทยจะไม่ขยับขึ้น แต่การจัดอันดับ IMD ในปี 2567 มีประเทศที่เข้าร่วมการจัดอันดับเพิ่มขึ้นถึง 3 ประเทศ ถือได้ว่าประเทศไทยยังสามารถรักษาระดับความสามารถทางการแข่งขันได้เป็นอย่างดี โดยตัวชี้วัดด้านการศึกษายังเป็นตัวชี้วัดเพียงกลุ่มเดียวของปัจจัยหลักด้านโครงการพื้นฐานที่ประกอบด้วย Basic Infrastructure, Technological Infrastructure, Scientific Infrastructure, และ Education ที่อันดับไม่ลดลง ขณะที่กลุ่มตัวชี้วัดในด้านอื่นล้วนมีอันดับที่ลดลงทั้งสิ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ตัวชี้วัดกลุ่มการศึกษามีแนวโน้มที่ดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับตัวชี้วัดกลุ่มอื่น ๆ

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณารายละเอียดตัวชี้วัดในแต่ละตัวพบว่า ประเทศไทยทำได้ดีในหลายตัวชี้วัด เช่น งบประมาณด้านการศึกษาต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) โดยมีอันดับที่ดีขึ้นถึง 19 อันดับมาอยู่ในอันดับที่ 32 และอัตราการเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาที่ดีขึ้นถึง 15 อันดับ มาอยู่ที่อันดับที่ 43 ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการเอาจริงเอาจังและเกาะติดงานมาตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยตัวชี้วัดงบประมาณด้านการศึกษา สกศ. ได้พยายามพัฒนาความสมบูรณ์ของข้อมูลมาโดยตลอดจากปี 2564 ที่อยู่ในอันดับ 59 มาถึงปีปัจจุบันมาอยู่ที่อันดับ 32 ซึ่งดีขึ้นถึง 27 อันดับ โดยเกิดจาก สกศ. ได้สร้างเครือข่ายในการทำงานร่วมกับหลายหน่วยงาน อาทิ สภาพัฒน์ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย จึงทำให้ตัวชี้วัดด้านการศึกษาดีขึ้นเป็นจำนวนมาก