xs
xsm
sm
md
lg

กรมสรรพากรยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าชดเชยที่ลูกจ้างได้รับจากนายจ้างกรณีถูกเลิกจ้าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เพจกรมสรรพากร โพสต์ระบุว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๗ อนุมัติหลักการการปรับปรุงการยกเว้นภาษี เงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าชดเชยที่ลูกจ้างได้รับจากนายจ้างกรณีถูกเลิกจ้าง เพื่อช่วยเหลือลูกจ้างที่เดือดร้อน จากการถูกเลิกจ้างให้ได้รับการบรรเทาภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ดร.กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า “กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากร ตระหนักถึงภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างได้รับจากนายจ้างกรณีถูกเลิกจ้าง จึงได้ เสนอร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร เพื่อปรับปรุงการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าชดเชยที่ลูกจ้างได้รับจากนายจ้างกรณีถูกเลิกจ้าง ให้สอดคล้องกันกับกฎหมายคุ้มครองแรงงานและสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น โดยมีรายละเอียดดังนี้

๑. กำหนดให้ค่าชดเชยที่ลูกจ้างได้รับตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน หรือตาม กฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ แต่ไม่รวมถึงค่าชดเชยที่ได้รับเพราะเหตุเกษียณอายุหรือสิ้นสุด สัญญาจ้าง ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างของการทำงาน ๔๐๐ วันสุดท้าย แต่ไม่เกิน ๖๐๐,๐๐๐ บาท ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพิ่มจากเดิมที่ค่าชดเชยส่วนที่ไม่เกินค่าจ้าง ของการทํางาน ๓๐๐ วันสุดท้าย และไม่เกิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

๒. ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๖ เป็นต้นไป

อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า “เมื่อกฎกระทรวงฯ มีผลใช้บังคับแล้ว

หากผู้มีเงินได้ ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีสำหรับค่าชดเชยที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามกฎกระทรวงฯ นี้ไปแล้ว สามารถยื่นปรับปรุงแบบแสดงรายการภาษีเพื่อขอคืนภาษีได้ภายใน ๓ ปีนับแต่วันสุดท้าย แห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีดังกล่าวตามกฎกระทรวงฯ

หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานสรรพากรทุกแห่งทั่วประเทศ
หรือศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร. ๑๑๖๑