xs
xsm
sm
md
lg

“หมอดื้อ”เผยการฝันร้ายมีพฤติกรรมหวาดกลัว เสี่ยงสมองไม่ดีเสื่อมเร็วมากขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อดีตหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า ฝันร้าย ผวา ผจญภัย สมองเสื่อม

หมอดื้อ ได้นำข้อมูลบทความทางวิทยาศาสตร์วิชาการ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการนอน ทั้งนอนน้อยนอนนานก็ไม่ดี งีบหลับกลางวันนานกว่าครึ่งชั่วโมงหรือ งีบบ่อยๆ ส่อ ถึงภาวะสมองเสื่อมรวมทั้งโน้มนำให้รุนแรงมากขึ้น รวมทั้งการงีบหลับแล้วสะดุ้งตื่นกลับมีปัญญาบังเกิด ทั้งหมดนี้หาอ่านได้ในไทยรัฐคอลัมน์สุขภาพพรรษาหมอดื้อ

ทั้งนี้ จะพบว่าเรื่องของการนอนเป็นเรื่องมหัศจรรย์และเกี่ยวข้องกับสุขภาวะทางกายและทางสมอง อย่างชัดเจน ทั้งนี้ยังพ่วงเกี่ยวกับเรื่องความฝัน

ดังที่พูดกันมาแต่โบร่ำโบราณ ว่านอนหลับฝันดีนะ เพราะในเวลาไม่นานมานี้เอง พบว่านอนแล้วฝันร้าย (nightmare) ฝันผวา (night terror) โดยที่มีพฤติกรรมหวาดกลัวถึงกับกรีดร้องหรือมีการเหวี่ยงแขนขา แบบฝันผจญภัยสุ่มเสี่ยงกับสมองไม่ดีสมองเสื่อมเร็วมากขึ้น

รายงานในวารสารแลนเซท e clinical medicine เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2023 จาก ภาควิชาประสาทวิทยา และศูนย์ Centre for Brain Health โรงพยาบาลและ มหาวิทยาลัย เบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ พบว่าเด็กทุกคนที่เกิดมาในอังกฤษในช่วงสัปดาห์เดียวกันในปี 1958 และมีการประเมินโดยสอบถามจากมารดาเมื่อเด็กอายุได้เจ็ดขวบในปี 1965 และ 11 ขวบในปี 1969 ว่าเด็กประสบกับฝันร้ายหรือฝันผวาหรือไม่ในช่วงระยะเวลาสามเดือนที่ผ่านมา
โดยมี จำนวนเด็ก 6991 ราย ซึ่งเป็นผู้หญิง 51% พบว่า 78.2% นั้นไม่มีฝันร้ายเลยและ 17.9% มีฝันร้ายอยู่บ้างแต่ 3.8% มีฝันร้ายเป็นประจำตลอดเวลา

ในปี 2008 เมื่อถึงอายุครบ 50 ปีพบว่ามีถึง 262 รายที่มีความผิดปกติทางสมองพุทธิปัญญา (cognitive impairment) และห้ารายเป็น พาร์กินสัน

ทั้งนี้หลังจากที่ปรับตัวแปรและปัจจัยร่วมต่างๆ สรุปได้ว่าการที่มีฝันร้ายเป็นประจำและยิ่งบ่อยยิ่งมากในระหว่างเป็นเด็กนั้น จะสุ่มเสี่ยงแปรตามกับการที่จะมีความผิดปกติทางสมองดังกล่าว โดยมีนัยยะสำคัญทางสถิติไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง
และเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่เคยมีฝันร้ายเลย กลุ่มที่ฝันร้ายเป็นประจำนั้นจะมีความเสี่ยงสำหรับความเสื่อมทางสมองหรือโรคพาร์กินสันที่อายุ 50 ปีสูงขึ้น 85%
หรือมีโอกาสเป็นภาวะที่เป็นสมองเสื่อมมากขึ้น 76% และมากขึ้นเจ็ดเท่าสำหรับโรคพาร์กินสัน

โอกาสเป็นภาวะสมองเสื่อมมากขึ้นในลักษณะนี้ ยังพบได้เช่นกัน ในกลุ่มวัยกลางคนและที่สูงวัยมาก (older adults)ที่แม้ว่าจะมีสุขภาพดีก็ตาม แต่มีฝันร้ายอย่างน้อย อาทิตย์ละหนึ่งครั้ง โดยมีโอกาสเพิ่มขึ้นสี่เท่าเมื่อติดตามไปในอีกประมาณ 10 ปีข้างหน้า โดยในคนสูงวัยมากนั้น มีโอกาสเพิ่มขึ้นสองเท่า รายงานในวารสารเดียวกันจากสถาบันเดียวกันในวันที่ 21 กันยายน 2022

รายงานนี้ ได้ทำการวิเคราะห์คนวัยกลางคนที่มีอายุระหว่าง 35 ถึง 64 ปีเป็นจำนวน 605 รายและติดตามไป 13 ปีรวมทั้งผู้สูงวัยมาก ที่อายุมากกว่าหรือเท่ากับ 79 ปีเป็นจำนวน 2600 รายและติดตามไปเจ็ดปี ทั้งนี้หลังจากที่ได้ทำการปรับปัจจัยตัวแปรต่างๆทั้งสิ้น

และผู้วิจัยได้ตั้งสมมุติฐานที่จะอธิบายความสัมพันธ์เหล่านี้กับภาวะสมองเสื่อม

ประการแรกก็คือมีความเป็นไปได้ที่ฝันร้ายฝันผวาเป็นอาการแรกเริ่มของโรคสมองเสื่อมแบบต่างๆทั้ง พาร์กินสัน สมองเสื่อมแบบ Lewy bodies (dementia with Lewy bodies DLB) รวมทั้ง อัลไซเมอร์ ดังที่ได้เคยมีรายงานว่าก่อนหน้า และเกิดจากความเสื่อมของสมองบริเวณหน้าผากทางด้านขวาซึ่งทำหน้าที่ในการลดทอน อารมณ์แปรปรวนในด้านลบระหว่างการฝันในช่วงที่ลูกตามีการเคลื่อนไหวเร็ว (REM sleep) ซึ่งในระยะต่อมาพบว่ายิ่งมีฝันร้ายฝันผวาในผู้ป่วยที่เป็นพาร์กินสัน จะมีความสัมพันธ์กับความเหี่ยวของสมองกลีบขมับหน้าผากทางด้านขวาทั้งที่เปลือกสมองและในสมองส่วนสีขาว (grey and white matter)
รวมทั้งมีรายงานในระยะต่อมาว่าภาวะฝันในช่วง REM จะเกิดขึ้นก่อนหน้า ที่จะมีอาการของโรคพาร์กินสัน หรือ DLB ถึง 50 ปี แต่ทั้งนี้ความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างฝันผวาในช่วงตั้งแต่เด็กที่ประเมินตั้งแต่อายุเจ็ดขวบไม่น่าจะอธิบายว่าเด็กในอายุขณะนั้น ที่สมองกำลังมีการพัฒนาจะเกิดพยาธิสภาพผิดปกติแล้วที่อายุยังน้อยมาก

โดยที่ ฝันร้ายฝัน ผวาต่างๆเหล่านี้อาจจะมีความสัมพันธ์เป็นเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้เกิดสมองเสื่อม ตามหลังดังรายงานในประชากรวัยกลางคนและที่สูงวัยมาก

โดยกลไกที่อาจเป็นไปได้จะอยู่ที่วงจรของการนอนจะไม่เป็นสุข ถูกกระตุกเป็นระยะและส่งผลให้การเคลียร์หรือระบายขยะด้วยระบบ glymphatic system ทำงานไม่เต็มที่ โดยที่ทราบกันดีแล้วว่าการนอนหลับลึกจะทำให้ท่อระบายขยะเหล่านี้กว้างขวางขึ้นอย่างน้อย 60% และการที่ระบายขยะได้ไม่ดีทำให้มีการสะสมมากขึ้น
เรื่อย ๆ ของโปรตีนพิษบิดเกรียว อมิลอยด์ ทาว และ อัลฟ่า ซินนูคลีอิน
และการนอนที่ไม่เป็นสุขมีฝันผวาในวัยเด็กเรื่อยมาอาจจะขัดขวางการพัฒนาทางสมอง และทำให้ต้นทุนของสมองลดน้อยถอยลงตามลำดับ และทำให้ถูกทำลายได้เร็วและมากขึ้นเมื่อมีปัจจัยอย่างอื่นเข้ามา
กระทบ ทั้งนี้รวมทั้งปัจจัยทางด้านพันธุกรรมอีกด้วย

แม้ว่ารายงานนี้จะเป็นการวิเคราะห์จากการติดตามระยะยาวแต่ก็ยังไม่สามารถอธิบายกลไกได้อย่างถ่องแท้ แต่ก็ไม่สามารถที่จะมองข้ามไปได้

การผ่อนคลายหรือบรรเทาภาวะฝันร้ายฝันผวาที่เกิดขึ้นในช่วงการนอน REM ที่ประกอบด้วยทั้ง ภาพและอารมณ์ก้าวร้าว ความขัดแย้งกับบุคคลอื่น ความล้มเหลวในชีวิตและผสมปนเปไปด้วยความกลัว ความโกรธและความ เศร้าสลด อาจทำได้ด้วย พฤติกรรมบำบัด (Imagery reversal therapy) โดยนักจิตวิทยา ที่สอนให้ปรับเปลี่ยนฝันร้ายที่ส่งผลในทางลบให้ออกมาเป็นทางบวก และเปรียบเสมือนกับเป็นการวาดความฝันใหม่ และในขณะที่มีการสอนอบรมนั้นในเวลากลางวัน มีการเปิดเสียงคลอไปด้วยเพื่อสร้างจินตนภาพในทางสดใสและสร้างสรรค์และในขณะกลางคืนนั้นขณะที่หลับก็ให้มีเสียงเปิดไปด้วย
เป็นการศึกษาโดยคณะในสวิตเซอร์แลนด์ที่ทดสอบวิธีดังกล่าวกับผู้ที่ได้รับความทรมานจากฝันร้ายเป็นจำนวน 36 รายและพบว่าได้ผล เป็นที่น่าพอใจ

กล่าวโดยสรุปการนอนดีนอนหลับไม่ใช่เป็นแต่เพียงระยะเวลาของการนอน หกถึง 8 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ต้องรวมถึงคุณภาพของการนอนที่หลับลึกไม่กระท่อนกระแท่นและไม่แทรกด้วยฝันร้าย ฝันผวา ฝันผจญภัย

การเจริญสติในทางสร้างสรรค์ ไม่คิดร้ายเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เป็นหนทาง ของความสงบสุขโดยทั่ว