xs
xsm
sm
md
lg

“เทพไท”ชี้กรณี“ทักษิณ”ได้ประกันตัว ไม่เกินความคาดหมายของสังคม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส. นครศรีธรรมราช โพสต์เฟซบุ๊ก เทพไท เสนพงศ์-คุยการเมือง ระบุว่า ทักษิณ ได้ประกันตัว ไม่เกินความคาดหมาย

การที่คุณทักษิณ ชินวัตร ได้รับการประกันตัวในคดีมาตรา 112 นั้น นับว่าไม่ได้เกินความคาดหมายของสังคมแต่อย่างใด เพราะคุณทักษิณคือบุคคลพิเศษ และเป็นอภิสิทธิ์ชนคนหนึ่งของประเทศไทย จึงเป็นไปไม่ได้เลยว่า คุณทักษิณจะไม่ได้รับการประกันตัว ต้องถูกคุมขังในเรือนจำ เพราะแม้แต่คดีที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาลงโทษจำคุกแล้ว ก็ยังไม่ยอมติดคุกเลยแม้แต่วันเดียว นับประสาอะไรกับคดีที่อยู่ระหว่างการต่อสู้ระหว่างการพิจารณาของศาลอาญา

การที่คุณทักษิณได้รับการประกันตัวภายใต้เงื่อนไข ห้ามไม่ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน และห้ามเดินทางออกนอกประเทศ โดยยึดพาสปอร์ตไว้เป็นประกัน ซึ่งเป็นเงื่อนไขเหมือนกับผู้ต้องหาทั่วไป แต่สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังในกรณีของคุณทักษิณ จะมีหลักประกันอะไรว่า จะไม่ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน เพราะคุณทักษิณยังเคลื่อนไหวทางการเมืองตลอดเวลาอาจจะมีการสร้างกระแสปลุกระดมทางการเมือง กดดันการพิจารณาคดีก็ได้ หรือจะใช้เวลา ระหว่างการประกันตัว ล็อบบี้ ต่อรอง เปิดดีลใหม่กับกลุ่มอนุรักษ์นิยม เพื่อให้รอดพ้นจากคดีก็ได้

การห้ามคุณทักษิณออกนอกประเทศ โดยประสานงานกับสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองนั้น ในความเป็นจริงก็ไม่สามารถทำได้ เพราะคุณทักษิณมีเครื่องบินส่วนตัว สามารถเดินทางออกนอกประเทศ โดยไม่ต้องผ่าน ต.ม.ก็สามารถทำได้ เช่น อ้างว่าจะเดินทางไปจังหวัดต่างๆ แต่สามารถใช้เครื่องบินไปลงที่สนามบินประเทศเพื่อนบ้านได้ฯลฯ

ส่วนการยึดพาสปอร์ตของประเทศไทยนั้น ก็ไม่มีความหมายอะไรกับคุณทักษิณ เพราะที่ผ่านมาคุณทักษิณถือพาสปอร์ตของประเทศมอนเตเนโกร และประเทศอื่นๆอีกหลายประเทศ ยิ่งคุณทักษิณไม่ติดกำไลอีเอ็ม ยิ่งเป็นการยากในการตรวจสอบพิกัดที่อยู่ และความเคลื่อนไหวของคุณทักษิณ ซึ่งแตกต่างกับผู้ต้องหาคนอื่นๆ ที่บางคนได้รับการประกันตัว แต่มีเงื่อนไขต้องติดกำไลอีเอ็มด้วย

การที่คุณทักษิณได้รับการประกันตัวในครั้งนี้ จึงมีการนำมาเปรียบเทียบกับการยื่นขอประกันตัวของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ยื่นประกันตัว 12 ผู้ต้องขังคดีการเมืองว่า จะได้รับสิทธิ์และเงื่อนไขในมาตรฐานเดียวกับคุณทักษิณหรือไม่ ซึ่งจะนำมาเป็นประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ และการปฏิบัติแบบ 2 มาตรฐานหรือไม่