xs
xsm
sm
md
lg

"เทพไท"ระบุยุติธรรมไทยวิกฤต คนเชื่อโจรมากกว่านาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "เทพไท – คุยการเมือง" ระบุว่า

ยุติธรรมไทยวิกฤต : คนเชื่อโจรมากกว่านาย

หลังจากที่มีข่าวลือ เรื่องถุงขนมภาค 2 ว่า มีการใช้เงินจำนวน 2,000 ล้านบาท เพื่อวิ่งเต้นคดีของคุณทักษิณ จนเกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ร้อนไปถึงศาลยุติธรรมที่ถูกพาดพิงโดยตรง จนที่ประชุม ก.ต.เสนอให้ประธานศาลฎีกา ในฐานะประธาน ก.ต.พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการสดับตรับฟังข้อเท็จจริง เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นตามขั้นตอนขึ้นมา

เรื่องดังกล่าวที่เกิดขึ้น จะเป็นความจริงหรือไม่ ก็ไม่มีใครสามารถยืนยันได้ รู้เพียงว่าเป็นกระแสข่าวลือที่ทำให้ผู้คนในสังคมเชื่อกันมากพอสมควร ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความน่าเชื่อถือในกระบวนการยุติธรรมไทยทั้งระบบตกต่ำ และวิกฤติเป็นอย่างมาก เพราะแม้แต่เป็นเพียงแค่กระแสข่าวลือ แต่สังคมกลับให้น้ำหนักไปว่าเป็นข่าวจริง ซึ่งเป็นเรื่องที่กระบวนการยุติธรรมไทยทั้งหมดต้องมาทบทวนว่า เกิดวิกฤติศรัทธาอะไรเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมไทย

ตอนนี้ความน่าเชื่อถือที่กระทบต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมไทย ได้เกิดขึ้น 2 ครั้ง ติดต่อกัน คือ

1. กรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร นักโทษที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษามีโทษจำคุก 8 ปี และได้รับพระราชทานอภัยลดโทษเหลือ 1 ปี แต่กลับไม่ต้องถูกจองจำอยู่ในเรือนจำเลยแม้แต่วันเดียว หลีกเลี่ยงโดยการอ้างอาการเจ็บป่วย และพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 จนถึงวันได้รับการพักโทษ และได้รับสิทธิ์ไม่ต้องติดกำไลอีเอ็มด้วย

2. กรณีที่นายเชาวลิต ทองด้วง หรือ แป้ง นาโหนด นักโทษหนีจากโรงพยาบาลมหาราช จังหวัดนครศรีธรรมราช และได้อัดคลิปออกมาแฉหรือเปิดโปงกระบวนการยุติธรรมไทย ที่เขาไม่ได้รับความเป็นธรรม ตั้งแต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด ศาลยุติธรรม และกรมราชทัณฑ์ จนทำให้ประชาชนเชื่อและคล้อยตามคำพูดของนักโทษหนีคุกอย่างนายแป้ง นาโหนด มากกว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ออกมายืนยันชี้แจงว่า กระบวนการยุติธรรมไทยยังมีความเที่ยงธรรม และอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนคนไทยอย่างเท่าเทียมกัน

แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมไทยที่เห็นอยู่ในขณะนี้ เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า มีการเลือกปฏิบัติ ปฏิบัติแบบ 2 มาตรฐาน สร้างความเหลื่อมล้ำในสังคม เป็นการตอกย้ำความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมไทย

ดังนั้นเมื่อมีกระแสข่าวลือใดๆ ที่มากระทบต่อกระบวนการยุติธรรมไทย ประชาชนส่วนใหญ่ก็จะหลงเชื่อในข่าวลือนั้นๆ มากกว่าคำชี้แจงของเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยซ้ำไป
ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่จะต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทยทั้งระบบ เพื่อดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมอย่างแท้จริง