xs
xsm
sm
md
lg

"ปานเทพ"เปิดผลวิจัยสหรัฐฯ - แคนาดา ยัน "กัญชา" ใช้เลิกยาเสพติดรุนแรงได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงกรณีที่มีความพยายามของบางฝ่ายในการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ว่า ท่านอาจจะหลงลืมบางข้อมูลที่สำคัญไป ท่านรู้หรือไม่ว่า กัญชา เป็นตัวช่วยให้คนเลิกยาเสพติดได้ ถ้านำกัญชากลับเป็นยาเสพติดแล้ว เราอาจจะเปิดให้ยาเสพติดระบาดยิ่งกว่าเดิม ทั้งยาบ้า ทั้งเฮโรอีน ซึ่งเริ่มกลับมาแล้ว ในขณะเดียวกัน เราได้ตัดตัวช่วยที่สำคัญอย่างกัญชาทิ้งไป

นายปานเทพ กล่าวว่า หากสืบข้อมูลย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2565 กระทรวงสาธารณสุขได้เริ่มประชุมขับเคลื่อนผลักดันกัญชา เพื่อลดปัญหาอาจนำไปสู่การได้มาซึ่งการคืนกลับมาสู่สังคมของผู้ที่ติดยาบ้า หรือยาเสพติดที่ร้ายแรงได้ เป็นไปตามมติที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยพิเศษว่าด้วยปัญหายาเสพติดโลก ค.ศ. 2016 (UNGASS 2016) โดยประเทศไทยในฐานะภาคีจะต้องกำหนดให้มีมาตรการทางเลือกกับผู้เสพยาเสพติด เพื่อผู้เสพเข้าสู่การบำบัดรักษา เช่น การนำมาตรการลดอันตรายจากยาเสพติด (Harm Reduction) รวมถึงการพัฒนาทางเลือก (Alternative Development) มาปรับใช้เพื่อให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นไปอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ งานวิจัยพบความจริงว่า "กัญชา" เป็นสมุนไพรที่ทำให้เกิดการเสพติดยากกว่าเหล้าและบุหรี่ และมีความน่าจะเป็นในการติดกัญชาอยู่เพียงระดับ "กาแฟ" เท่านั้น ในขณะที่สำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime) ได้รายงานว่าในปี 2563 มีประชากรในโลกที่อายุ 15-64 ปี มีผู้ใช้สารเสพติดมากถึง 284 ล้านคน แบ่งเป็นการใช้กัญชามากถึง 209 ล้านคน (ร้อยละ 73.59), รองลงมาอันดับที่สองคือกลุ่มฝิ่นหรือโอปิออยด์ 61 ล้านคน (ร้อยละ 21.48), ยาบ้า 34 ล้านคน (ร้อยละ 11.97), โคเคน 21 ล้านคน (ร้อยละ 7.39) และยาอีประมาณ 20 ล้านคน (ร้อยละ 7.04) จากกลุ่มผู้ใช้ยาทั้งหมด มีสาเหตุการเสียชีวิตสูงที่สุดในโลกกลับเป็นยากลุ่มฝิ่นหรือโอปิออยด์คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 77 ยาบ้ามีสัดส่วนร้อยละ 7 โคเคนมีสัดส่วนร้อยละ 4 กัญชามีสัดส่วนร้อยละ 4

นายปานเทพ กล่าวว่า โดยหากพิจารณาจากสัดส่วนของประชากรที่ใช้สารเสพติด กับจำนวนการตายอันเนื่องมาจากยาเสพติดนั้น ย่อมเห็นสัดส่วนได้อย่างชัดเจนว่า ในขณะที่กัญชามีผู้ใช้มากที่สุดถึง 209 ล้านคน (ร้อยละ 73.59) แต่กลับมีสัดส่วนอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่าทั้งโอปิออยด์ ยาบ้า และโคเคน ย่อมสะท้อนให้เห็นว่ากัญชาอันตรายน้อยกว่ายาเสพติดที่รุนแรงเหล่านี้อย่างชัดเจน นอกจากนั้น กัญชายังมีบทบาทในฐานะเป็นสมุนไพรที่ช่วยทดแทนเพื่อลดอันตรายจากยาเสพติดที่รุนแรง (Harm Reduction) อีกด้วย

นายปานเทพ กล่าวต่อว่า กัญชาได้ถูกนำมาเริ่มต้นนำมาใช้สารสกัดแคนนาบิไดออลทั้งในกัญชาหรือกัญชง เพื่อลดการติดยากลุ่มฝิ่น หรือโอปิออยด์ รวมทั้งเฮโรอีน รวมทั้งการใช้กัญชาเพื่อลดการติดโคเคนในแคนาดาอีกด้วยโดยวารสารเกี่ยวกับการลดความรุนแรงจากยาเสพติดโดยตรงที่เรียกว่า Harm Reduction Journal ฉบับเผยแพร่เมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2562 คณะวิจัยชาวแคนาดาได้ทำการสำรวจประชากรชายและหญิงประมาณ 3,110 คน อายุเฉลี่ย 40 ปี โดยเป็นผู้ป่วยที่มีอาการปวดหรือมีปัญหาทางสุขภาพจิต 1,700 คน หรือประมาณร้อยละ 83.7 และพบว่าผู้ที่ใช้กัญชาเพื่อแทนใบสั่งยา เพื่อลดยากลุ่มฝิ่นหรือโอปิออยด์ เพื่อลดการดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อลดบุหรี่ และทดแทนยาเสพติดอื่นๆ โดยงานวิจัยมีความเห็นแนะนำว่าการเพิ่มขึ้นในการเข้าถึงกัญชาทั้งทางการแพทย์และนันทนาการอย่างมีการควบคุมให้เหมาะสม สามารถส่งผลทำให้ลดความรุนแรงจาก โอปิออยด์ แอลกอฮอล์ บุหรี่ และยาเสพติดอื่นๆ ได้

ต่อมาผลการศึกษาวารสารสาธารณสุขของอเมริกัน ชื่อ American Journal of Public Health (AJPH) ได้เผยแพร่งานวิจัยเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม พ.ศ. 2564 ในการศึกษาที่เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ระหว่างเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2559-2561 พบว่า ร้อยละ 25 ของผู้ที่ใช้กัญชานั้นเพื่อลดยาที่อันตรายหรือรุนแรงอย่างอื่นที่เรียกว่า "Harm Reduction" (เช่น เฮโรอีน, ฝิ่น, โคเคน, ยาบ้า, หรือแอลกอฮอล์) และพบเหตุผลที่มากที่สุดคือใช้กัญชาเพื่อทดแทนยาเสพติดที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาทถึง ร้อยละ 50 และการทดแทนกลุ่มฝิ่นหรือโอปิออยด์ที่ผิดกฎหมายอีก ร้อยละ 31

นายปานเทพ  กล่าวต่อว่า หัวหน้าคณะวิจัยชาวแคนาดาคนเดียวกันนี้ ได้วิจัยต่อเนื่อง และได้ทำงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารกัญชาและสารสกัดจากกัญชาในปีต่อมาชื่อ Cannabis and Cannabinoid Research เผยแพร่เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 เป็นการศึกษาเรื่องกัญชาแบบไปข้างหน้า (Cohort Study) ในการเฝ้าสังเกตการณ์กลุ่มประชากร 5,706 คน พบว่าการใช้กัญชาได้ประสบความสำเร็จในการทดแทนกลุ่มประชากรที่ใช้ยาเสพติดที่รุนแรง โดยเฉพาะยาบ้า (Metamphetamine) และทำให้ต้องมองกัญชาเป็น "ยุทธศาสตร์" ที่จะนำมาใช้เพื่อลดปัญหาผู้ที่ใช้ยาเสพติดได้มากขึ้น

ดังนั้นผู้ที่ใช้กัญชาเพิ่มขึ้นอาจเป็นกลุ่มที่กำลังลดความรุนแรงของยาเสพติดที่รุนแรงหลายชนิด รวมถึงการลดพฤติกรรมความรุนแรงของยาเสพติดชนิดอื่น รวมถึงการลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ที่เป็นปัญหาการเสียชีวิตของคนทั้งโลกมากขึ้นด้วย ซึ่งหากมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาจะต้องไม่สำรวจเพียงว่ามีประชากรใช้กัญชาเพิ่มมากขึ้นแต่เพียงอย่างเดียวหรือไม่ แต่ควรต้องสำรวจลึกไปกว่านั้นว่าคนที่ใช้กัญชานั้นเป็นไปเพื่อการลดการใช้ยาเสพติดที่รุนแรงหรือไม่ด้วย