xs
xsm
sm
md
lg

คาดเงินบาทสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวในกรอบ 36.50-37.00 บาท/ดอลลาร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) มองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทสัปดาห์หน้า (17-21 มิ.ย.) ที่ระดับ 36.50-37.00 บาทตจ่อดอลลาร์ จากปิดตลาดในวันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน ที่ระดับ 36.72 บาท/ดอลลาร์ เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 1 สัปดาห์ที่ 36.94 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงต้นสัปดาห์ตามภาพรวมของสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชียที่อ่อนค่าลงท่ามกลางแรงหนุนต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ จากตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด ซึ่งอาจทำให้จังหวะการปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เลื่อนออกไป

อย่างไรก็ดี เงินบาททยอยฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนในระหว่างสัปดาห์ หลังจากเงินดอลลาร์ฯ กลับมาเผชิญแรงขายตามการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ทั้งในช่วงก่อนและหลังการประชุมเฟด ประกอบกับเงินดอลลาร์ฯ มีปัจจัยลบจากตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต และข้อมูลจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ ที่ออกมาอ่อนแอกว่าที่ตลาดคาดด้วยเช่นกัน

และเงินบาทกลับมาอ่อนค่าลงอีกครั้งช่วงปลายสัปดาห์ตามทิศทางเงินเยน ซึ่งอ่อนค่าลงหลังธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงดอกเบี้ยและปริมาณการซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นที่ระดับเดิม ขณะที่แผนการลดการซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นนั้น แม้ BOJ จะมีการส่งสัญญาณเตรียมดำเนินการ แต่ก็จะเปิดเผยรายละเอียดในการประชุมเดือนกรกฎาคม อีกครั้ง

ทั้งนี้ การประชุมนโยบายการเงินของไทยและสหรัฐฯ ในช่วงกลางสัปดาห์ ออกมาคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิมตามที่ตลาดคาด โดย กนง. มีมติ 6:1 เสียงให้คงดอกเบี้ยไว้ที่ 2.50% ขณะที่เฟดมีมติคงดอกเบี้ยไว้ที่กรอบ 5.25-5.50% และมีการปรับเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อทิศทางดอกเบี้ยนโยบายผ่าน dot plot มาสะท้อนโอกาสการลดดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้งในปีนี้

ส่วนในสัปดาห์หน้าปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ปัจจัยทางการเมืองของไทย และสัญญาณเกี่ยวกับดอกเบี้ยสหรัฐฯ จากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียเดือนมิถุนายน ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านและยอดขายบ้านมือสองเดือนพฤษภาคม รวมถึงตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม และผลการประชุมของธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ตัวเลขเศรษฐกิจเดือนพฤษภาคม และการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) ของจีน รวมถึงดัชนี PMI เบื้องต้นสำหรับเดือนมิถุนายน ของญี่ปุ่น อังกฤษ ยูโรโซนและสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน