ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง ยกฟ้อง ในคดีที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ฉบับลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 และเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนที่มีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติ และหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนให้แตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิมตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2563
ศาลปกครองสูงสุด ระบุเหตุผลว่า ประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 และเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน ที่ออกโดยผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ไม่มีลักษณะประการใดที่จะทำให้เป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ทั้งนี้ คดีนี้เป็นคดีสุดท้ายที่มีการฟ้องเกี่ยวกับการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มหลังจากมีการต่อสู้กันมายาวนานกว่า 4 ปี ซึ่งหลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาในวันนี้จะทำให้ รฟม.สามารถเซ็นสัญญากับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ในฐานะผู้เสนอผลตอบแทนสูงสุดให้กับภาครัฐได้ภายในปีนี้
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ อดีตผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เผยหลังรับฟังคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด พร้อมกับให้ข้อมูลว่า กระบวนการหลังจากนี้ รฟม.เตรียมนำคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดมาตีความ เพื่อผลักดันเข้าสู่ขั้นตอนเตรียมลงนามสัญญากับผู้ชนะการประมูล โดยเสนอผลการเจรจาและร่างสัญญามายังกระทรวงคมนาคม ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา หากเห็นชอบผลการประมูลจะเร่งรัดลงนามสัญญาทันที เพราะขณะนี้เอกชนผู้ชนะการประมูลยื่นราคามาเป็นเวลานานแล้ว อีกทั้งภาพรวมโครงการก็ล่าช้ามาหลายปี ประกอบกับงานโยธาส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ก่อสร้างแล้วเสร็จกว่า 1 ปี หากสามารถเร่งลงนามสัญญาได้จะส่งผลให้เอกชนสามารถจัดหาขบวนรถและเปิดให้บริการส่วนตะวันออกได้โดยเร็ว